*ขอขอบคุณ Bandai Namco Entertainment และ Square Enix สำหรับโค้ดรีวิวมา ณ โอกาสนี้
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5
ซีรีส์ Seiken Densetsu หรือตำนานดาบศักดิ์สิทธิ์นี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่อยู่คู่กับ Square Enix (ยุค Squaresoft) มาช้านานพอ ๆ กับ Final Fantasy ก็ว่าได้ ซึ่งแม้ว่าความนิยมและชื่อชั้นอาจจะไม่ได้เทียบเท่ากัน แต่ก็มีแฟน ๆ ที่รอคอยติดตามกันอยู่เสมอ ๆ และ Visions of Mana ในรอบนี้ก็ถือเป็นภาคหลักภาคล่าสุดที่ออกมาให้แฟน ๆ ได้สัมผัสครับ เราเล่นแล้วจะรู้สึกอย่างไรเชิญอ่านกันได้เลย
เนื้อเรื่อง
สำหรับเนื้อเรื่องใน Visions of Mana นี้จะบอกเล่าการเดินทางของตัวเอกประจำเกมอย่างวัล (Val) ในฐานะผู้พิทักษ์วิญญาณที่จะต้องออกเดินทางเพื่อคอยปกป้องเหล่าผู้คนที่ได้รับการคัดเลือกโดยแฟรี่ในฐานะผู้แสวงบุญของแต่ละธาตุ เพื่อที่จะเดินทางไปยังพฤกษาแห่งมานา และสละตนเพื่อฟื้นฟูพลังงานให้แก่พฤกษาแห่งมานาและค้ำจุนโลกให้ดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งวัฏจักรนี้ได้ดำเนินมานานแสนนานในโลกแห่งนี้ แต่ในระหว่างการเดินทางนั้น วัลและผองเพื่อนก็จะได้พบเหตุการณ์มากมาย รวมถึงการตั้งคำถามหาที่มาที่ไปว่าเหตุใดจึงได้เกิดวัฏจักรนี้ขึ้นเช่นกัน
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเซ็ตติ้งของเกมก็ค่อนข้างน่าสนใจอยู่กับการตั้งคำถามถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาหลายชั่วอายุคนแบบที่ไม่เคยมีใครถาม รวมถึงการพยายามหาความจริงของสิ่งที่เป็นไปในโลก เพียงแต่ว่าผมรู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างค่อนข้างที่จะเดาออกได้ง่ายอยู่เหมือนกัน เหตุผลในการกระทำของตัวร้ายรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา มีขาวมีดำค่อนข้างชัด ไม่ได้มีตัวไหนที่ปูมหลังซับซ้อนที่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมครับ เพราะเล่นไปเดี๋ยวเกมก็บอกเองว่าตัวละครทำสิ่งนั้นเพราะอะไร ซึ่งในแง่นี้ผมว่าก็ค่อนข้างสมกับงานออกแบบเกมที่มีสีสันสดใสเหมือนสมุดภาพนิทานอยู่ เนื้อหาจะค่อนข้างไปเรื่อย ๆ สบาย ๆ มีจุดพลิกผันประปรายให้ติดตามครับ
เกมเพลย์
ระบบต่อสู้
สำหรับ Visions of Mana ยังคงมีแก่นในการเล่นตามลักษณะเดิมของซีรีส์นั่นคือเป็นแอ็กชันอาร์พีจีแท้ ๆ ซึ่งระบบการเล่นนั้นค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนชนิดที่ว่าผู้เล่นต้องมานั่งจำคอมมานด์สลับท่าเพื่อสร้างคอมโบอะไรแบบนั้น เกมจะเน้นที่ตีเบา ตีหนัก แล้วก็ใช้เวทตามสถานการณ์ หรือใช้ความสามารถจากภาชนะธาตุเพื่อความสะดวกในการต่อสู้
แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเกมก็ยังมีระบบการปรับแต่งตัวละครที่ค่อนข้างลึกซึ้งในระดับหนึ่งเหมือนกันด้วยการติดตั้งภาชนะธาตุให้กับตัวละครนั่นล่ะครับ จากบรรดาตัวละครทั้งหมด 5 ตัวในเกมนี้ คุณสามารถติดตั้งธาตุใดก็ได้ให้กับตัวละครโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งผลที่ได้นอกจากการโจมตีที่จะเปลี่ยนธาตุไปแล้ว สกิลที่จะสามารถเรียนรู้ได้ก็ต่างกันไป และเมื่อเรียนรู้สกิลใดแล้วคุณก็จะนำไปใช้ได้ตลอดแม้ว่าจะสลับธาตุไปแล้วก็ตาม มันจึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนเล่นได้ลองมิกซ์แอนด์แมตช์หาความถนัดของตัวละครรวมถึงความเข้ากันได้ของทีมด้วย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้แต่ละธาตุแตกต่างกันไปด้วยก็คือความสามารถพิเศษของแต่ละธาตุครับ ซึ่งก็แน่นอนว่าประโยชน์ใช้สอยต่างกันและจะช่วยให้การต่อสู้ของคุณสะดวกขึ้นเยอะมาก เช่นธาตุไฟก็จะเป็นการพุ่งประชิดเข้าโจมตีศัตรูทันที แต่ธาตุไม้ก็จะเป็นการสร้างต้นไม้ที่จะฟื้นพลังชีวิตเมื่อเข้าไปอยู่ใต้ร่มเงา หรือธาตุแสงที่จะผูกศัตรูเข้าไว้ด้วยกันเพื่อรับแดเมจพร้อมกัน ฯลฯ ซึ่งเกมก็ค่อนข้างต้องการให้ผู้เล่นได้ลองสลับไปมาด้วย เพราะการสลับธาตุนั้นไม่เสียอะไร ปรับไปปรับกลับได้ตลอดเวลา
ความยากของเกมในแง่การต่อสู้นั้น ผมคิดว่ากำลังดีครับไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป (ถ้าเล่น Normal นะ) อยู่ในระดับที่ผู้เล่นอาจไม่ต้องวางกลยุทธ์มากนัก ถ้ารู้จักเข้าตี รู้จักหลบไม่ยืนแลกหวดกับศัตรูส่งเดชก็ไม่เกินความสามารถ เพียงแค่ว่าถ้าคุณมีแผน มีเซ็ตอัปที่ดี ชีวีจะสะดวกขึ้นมากเลยทีเดียวครับ และท่าใหญ่อย่าง Class Strike นั้นก็รุนแรงและสวยงามใช้ได้ ถ้าคุณรู้จักบริหารเกจท่าใหญ่มันก็จะทำให้คุณจัดการบอสได้อย่างไม่ยากเย็น หรือจะใช้ปิดฉากเท่ ๆ ก็แล้วแต่
อาวุธตัวละครนั้นเป็นอีกแง่หนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึง กล่าวคือตัวละครแต่ละตัวนั้นจะมีอาวุธที่ใช้งานได้อยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามคลาสที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และไม่สามารถใช้งานข้ามคลาสได้ ดังนั้นถ้าวัลของคุณติดตั้งธาตุไฟและใช้อาวุธเป็นโล่กับหอกอยู่ พอเปลี่ยนเป็นธาตุน้ำปั๊บก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้ดาบใหญ่แทน นั่นเลยทำให้เวลาคุณไปเมืองใหม่ ๆ ทีไร อาวุธที่มีขายก็มักจะมาทีเดียว 3 แบบสำหรับแต่ละตัวละครเผื่อให้คุณใช้งานตามคลาส ณ ขณะนั้น แต่ในส่วนของเครื่องป้องกันจะไม่มีแบ่งคลาส และอาวุธกับเครื่องป้องกันในเกมนี้จะเน้นที่ค่าสถานะเพียว ๆ ไม่ได้มีสกิลพิเศษอะไรติดมาด้วย เพราะสกิลพวกนั้นจะไปขึ้นอยู่กับเมล็ดอบิลิตี้ที่ติดตั้งได้แทนเปรียบเสมือนเป็นเครื่องประดับครับ
รวม ๆ แล้วตัวเกมก็เรียกได้ว่าเล่นง่าย เข้าใจง่าย แต่ก็มีตัวเลือกให้ผู้เล่นได้ลองผสมนั่นนี่เพื่อหาบิลด์สุด OP ได้เหมือนกันถ้าคุณต้องการ และบรรดาศัตรูในเกมนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวที่คุ้นเคยกันดีจากซีรีส์มานาครับ เริ่มตั้งแต่ตัวเบสิคขนาดเล็ก ๆ อย่างเจ้ามอนสเตอร์กระต่าย Rabite ไปยันตัวใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มอย่างพวก Benevodon ทั้งหลาย ซึ่งมันก็ชวนให้รับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการดีไม่หยอกครับ
ถึงอย่างนั้น ผมก็มีจุดขัดใจเล็ก ๆ ในแง่ระบบล็อกเป้าของเกมอยู่ เวลาสู้กับศัตรูหลาย ๆ ตัวนั้นผมเจอปัญหาการสลับเป้าหมายบ่อย ๆ เพราะมันยากที่จะล็อกเป้าตัวที่เราต้องการ แล้วบางครั้งเวลาเราล็อกแล้วมุมกล้องมันดันไม่หมุนตาม พอดันอนาล็อกขวาเพื่อหมุนมุมกล้องมันก็กลายเป็นเปลี่ยนตัวที่ล็อกเป้าแทน เพราะว่าเกมใช้อนาล็อกขวาทั้งการหมุนมุมกล้องและการสลับเป้าหมายนี่ล่ะครับ
การสำรวจ
จุดหนึ่งที่ผมคิดว่า Visions of Mana ทำออกมาได้ดีไม่เบาก็คือสภาพแวดล้อมในการสำรวจของฉากต่าง ๆ ครับ แต่ละฉากนั้นมีความกว้างที่กำลังดี ไม่รู้สึกว่ามันกว้างเกินไปจนขี้เกียจเดินทาง และในแต่ละจุดก็มีแทรกพวกสิ่งต่าง ๆ ให้เก็บและให้สำรวจได้พอเพลิน ๆ อยู่ และสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยเหลือการเดินทางก็เยอะอยู่ ทั้งการขี่สัตว์พาหนะในฉาก หรือการเดินทางโดยใช้ Vuscav หรือ Flammie ที่แฟน ๆ น่าจะคุ้นเคยก็มี เรียกได้ว่าหยิบยกเอาองค์ประกอบในภาคก่อน ๆ มาใช้ค่อนข้างมากอยู่
แผนที่ของเกมนี้ก็มีข้อมูลช่วยเหลือผู้เล่นเยอะครับ เพราะจะมีการบอกหมดไม่มีกั๊กว่าจุดไหนมีสมบัติ จุดไหนมีศิลาธาตุไว้เก็บค่าสกิล จุดไหนมีเควสต์ให้ไปรับ และตรงไหนที่ยังไปไม่ได้เพราะยังไม่มีพลังธาตุที่จำเป็นสำหรับการเดินทางก็จะยังไม่ขึ้นบอก นอกจากนั้นพวกจุดสำคัญ ๆ บนแผนที่นั้นเราเลือกเดินทางแบบฟาสต์ทราเวลได้ทุกจุดมันเลยช่วยย่นเวลาคนเล่นได้เยอะเอาเรื่องเลย
ถึงกระนั้น แม้ว่าฟาสต์ทราเวลเกมนี้จะสะดวกแต่มันก็มีความติด ๆ ขัด ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะการฟาสต์ทราเวลระหว่างแผนที่จะทำได้เฉพาะเมื่ออยู่ในทวีปเดียวกันเท่านั้น ดังนั้นถ้าคุณจะเดินทางไปทวีปอื่นในช่วงกลางถึงท้ายเกม คุณต้องเรียกใช้งาน Vuscav หรือไม่ก็ Flammie เพื่อแวะไปยังจุดใดสักจุดบนทวีปนั้น ๆ ก่อน มันเลยเป็นความงึกงักเล็ก ๆ บนความสะดวกครับ
ในเกมนี้ก็มีไซด์เควสต์ตามขนบเกมอาร์พีจีครับ แถมมีเพียบเลยด้วย แต่ว่าเควสต์ส่วนมากก็จะออกแนวการให้เราไปกำจัดศัตรูชนิดไหนตามจำนวนที่กำหนด บ้างก็ไปหาไอเท็มมาให้ ไม่ค่อยมีรูปแบบเควสต์ที่นอกเหนือไปจากนี้เท่าไร พอไปช่วงท้าย ๆ เกมมันเลยจะแอบรู้สึกซ้ำซากไปเหมือนกัน พอบวกกับที่ว่าบางเควสต์จะให้เราไปกำจัดศัตรูหรือหาของข้ามทวีป มันก็เลยทำให้แอบเสียเวลาที่ต้องไป ๆ มา ๆ ด้วยเหตุผลที่บอกไปก่อนหน้านี้ครับ
กิมมิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมชอบก็คือการใช้งานพลังธาตุในฉากเพื่อหาทางไปต่อ ตัวเกมไม่ได้ออกแบบในจุดนี้มาซับซ้อนมากนัก หลัก ๆ ก็คือหาจุดใช้งานพลังธาตุแล้วเส้นทางก็จะเปิดออกมาให้เราเอง แต่มันก็เป็นอะไรที่แปลกตาดีเวลาได้เดินทางไปยังแผนที่ใหม่ ๆ เพราะว่าพลังธาตุแต่ละจุดก็ส่งผลในฉากต่างกัน บ้างก็เป็นแรงลมหนุนให้ขึ้นจุดสูง บ้างก็เป็นการใช้พลังความมืดในการยึดเกาะจุดต่าง ๆ อะไรแบบนั้น สิ่งพวกนี้เป็นอะไรที่ชวนให้แวะกลับมาฉากเก่า ๆ เพื่อไล่เก็บไอเท็มหรือไล่สำรวจจุดที่ยังไปไม่ได้ในทีแรกครับ
กราฟิก
ในส่วนของกราฟิกนั้น ต้องเรียกได้ว่าเกมนี้มีงานศิลป์และการออกแบบฉากที่สวยมาก ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมหรือเมืองต่าง ๆ นั้นมีจุดเด่นมีเอกลักษณ์ชัดเจน และภาพสไตล์สีน้ำมันก็ให้อารมณ์เหมือนเป็นหนังสือภาพนิทานที่ดูดีสบายตา พวกเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ในเกมเวลาต่อสู้ก็ทำออกมาดูทรงพลังและเต็มไปด้วยสีสันแต่ไม่รู้สึกรำคาญตาครับ โดยรวมแล้วในแง่ของกราฟิกนั้นถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นของเกมนี้เลยก็ว่าได้
เพลงประกอบ
ผมคิดว่าเพลงประกอบของเกมนี้ค่อนข้างรีแล็กซ์ ฟังแล้วสบายใจ เพลงส่วนใหญ่จะเนิบ ๆ สมกับธีมของกราฟิกที่นำเสนอ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเพลงที่ใช้พวกเครื่องดนตรีเก่า ๆ เหมือนเป็นเพลงประจำท้องถิ่นแต่ละที่ ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิดหลายเพลงเป็นการนำเอา OST ภาคก่อน ๆ มารีมิกซ์ใหม่นั่นล่ะครับ ในขณะที่เพลงสู้บอสเองก็ทำออกมามีจังหวะเร่งเร้าชวนให้คึกคักพร้อมจะหวดกับบอสแบบไม่ต้องสงสัย เรียกได้ว่าจังหวะที่จะผ่อนคลาย เพลงก็ชวนรีแล็กซ์ จังหวะที่ต้องบวกกับบอสเพลงก็ชวนให้ตื่นตัว
สรุป
ผมคิดว่า Visions of Mana เป็นเกมแอ็กชันอาร์พีจีที่ทำออกมาได้สนุก เล่นเพลิน ๆ และมีกราฟิกที่สบายตา แม้จะมีจุดขัดข้องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร หากว่าใครที่เป็นแฟนซีรีส์มานาก็น่าจะชื่นชอบได้ไม่ยากครับ