Demon’s Souls Remake (PS5) – รีวิว [REVIEW] ลิ้มรสต้นตำรับ มาโซคิสม์ฉบับเน็กซ์เจน
*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก Sony Interactive Entertainment Singapore มา ณ โอกาสนี้ครับ
ย้อนไปเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน คงแทบจะมีคนเพียงหยิบมือที่คิดว่าการมาถึงของ Demon’s Souls จะเป็นการกรุยทางและปฏิวัติการออกแบบผลงานเกม Action RPG ไปจนถึงยกระดับกลายเป็นชื่อของแนวเกมที่เราเรียกกันว่า Souls Series ในปัจจุบัน แน่นอนว่าการที่เกมนี้ถูกเลือกมาใช้เป็นเกมเอ็กซ์คลูซีฟเปิดศักราชของ PS5 รวมถึงเป็นการ Remake จากต้นฉบับของตำนานเกิด-ตาย-วนเวียน ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้พัฒนาที่มีแฟ้มประวัติผลงานเชื่อมือได้มากกว่า Bluepoint Games เจ้าพ่อแห่งการรีมาสเตอร์ของวงการ ที่ Sony ไว้วางใจให้ Remake เกม Shadow of the Colossus จนประสบความสำเร็จมาแล้ว และคราวนี้พวกเขาก็ได้รับโจทย์ที่ท้าทายไปอีกขั้นด้วยการ Remake เกมบนนวัตกรรมของเครื่อง PS5
จั่วหัวก่อนอ่าน
ข้อมูลที่ต้องรู้ก่อนอ่านรีวิว คือ
รีวิวนี้มาจากประสบการณ์ของคนที่เล่นเกมจบหนึ่งรอบ โดยเลือกเป็นนักเวทสายเน้นพลังเวทกับ MP หนัก ๆ
นี่เป็นรีวิวจากคนที่เล่นเกม Soul Series จบมาทุกภาค รวม Bloodborne แถม Sekiro ด้วยอีกหนึ่ง แต่… ไม่เคยได้ลอง Demon’s Souls แบบต้นฉบับแท้ ๆ มาก่อน ได้แค่ดูเกมเพลย์ผ่าน ๆ ตามาบ้าง เมื่ออ่านจบ คุณผู้อ่านก็จะได้มุมมองจากคนที่มาสัมผัสเกมนี้ครั้งแรกจริง ๆ บน PS5 แต่อาจไม่ได้ลงลึกถึงการจี้จุดต่างของเวอร์ชันต้นฉบับกับเวอร์ชัน Remake ได้สะใจเท่าคนเล่นมาก่อน ถึงแบบนั้นผมก็ได้พยายามลิสต์ความแตกต่างของสองเวอร์ชันเท่าที่ไปรวบรวมได้ มาให้อ่านคร่าว ๆ ด้านล่าง
ความต่างสำคัญ ๆ ระหว่างต้นฉบับกับ Demon’s Souls Remake
- งานภาพกับแอนิเมชัน – ความจริงข้อนี้คงไม่ต้องบอก คุณผู้อ่านก็น่าจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่กันตั้งแต่ตัวอย่างเปิดตัวเกมแล้ว โดยเกมจะให้คุณเลือกรันได้สองโหมดคือโหมดเน้นคุณภาพกราฟิก ซึ่งเฟรมเรตจะนิ่งอยู่ที่ 30 FPS แต่ถ้าเลือกโหมดประสิทธิภาพ ความคมชัดของภาพจะอยู่ที่ 1440P และเฟรมเรตจะวิ่งอยู่แถว ๆ 40-60 FPS ครับ ซึ่งตลอดทั้งเกมผมเลือกเอาโหมดประสิทธิภาพไว้ก่อน แล้วจากการคาดคะเนผมคิดว่าเฟรมเรตแทบจะไม่หนีห่างจาก 60 FPS เลย จะมียกเว้นก็บางด้านที่ต้องอาศัยพลังของเอฟเฟกต์เยอะ เช่น การสู้บอสปิศาจเพลิงแฝงกายในนครใต้ดินที่มาทั้งไฟ ทั้งลาวา เวลาหมุนมุมกล้องจะรู้สึกได้ว่าเฟรมเรตแอบมีดรอปลงนิดหน่อย แต่ถ้าไม่นับตรงจุดนั้น ผมรู้สึกว่า FPS รันได้นิ่งมากเหมือนนอนติดเตียง (อันนี้ชม) รายละเอียดตัวละครถูกยกเครื่องสู่ความเป็นเน็กซ์เจนของจริง ขนาดไอคอนรูปวิญญาณบอสแต่ละดวงยังออกแบบมาอย่างงามเลยคุณ
พลังของ Ray Tracing มันทำให้เกมมีชีวิตชีวาอย่างไม่น่าเชื่อ คุณอาจจะไม่สังเกตเห็นในช่วงแรก ๆ ที่มีฉากเปิดกว้าง แต่คุณจะสัมผัสมันได้ชัดแบบสุด ๆ ก็ตอนที่อยู่ในห้องโถงมืด ๆ หรือทางในถ้ำแคบ ๆ แสงจากเครื่องรางที่สวมจะสะท้อนกับผนังถ้ำอย่างเป็นธรรมชาติมาก ผมลองกดเก็บเครื่องรางแล้วหยิบดาบหรืออาวุธอื่นออกมา เงาสะท้อนก็จะเป็นอีกแบบและเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวเรา แต่ถ้าให้ชัดเจนที่สุดคือแสงจากกองไฟที่สะท้อนกับผนังครับ มันจะมีลักษณะวิบไหวตามเปลวไฟเลย
ส่วนงานด้านแอนิเมชัน ทีมงานมีการปรับท่ากลิ้งของตัวละครจากที่กลิ้งได้แค่ 4 ทิศในเวอร์ชันเดิม ให้กลายเป็นโตแล้วจะกลิ้งไปทางทิศไหนก็ได้ (เอาเข้าจริง สิ่งนี้มันก็ไม่ได้ต่างจากมาตรฐานเกม Souls ช่วงหลัง ๆ หรอกครับ แต่มาหมายเหตุให้รู้กัน) สีหน้าของตัวละครตอนโดนโจมตี แม้กระทั่งการพูดก็ดูเป็นธรรมชาติ ความโดดเด่นอีกอย่างคืออำนาจของฟิสิกส์ซึ่งคุณจะเห็นแบบจะ ๆ ตั้งแต่บอสตัวแรก จากแต่ก่อนที่บอสจะกวาดดาบไปทั่วฉากแค่ไหน ก็เหมือนจะมีแต่เราที่สามารถโดนการโจมตีนั้นได้ มาครั้งนี้ บอสหวดทีเสาก็พังกันครึกโครม เพิ่มความลุ้นให้การต่อสู้ไปอีก นอกจากนี้ลองสังเกตตอนฟันบอสตัวแรกด้านหลังของมันก็ได้ครับ มันจะมีความก้นเด้งไปมาตามแรงดาบของเราด้วย คือละเอียดกันถึงเบอร์นั้น พวกศพศัตรูรายทางที่ถึงแม้มันจะตายด้วยท่าแปลก ๆ แต่ถ้าเราหวดดาบไปโดน ร่างศัตรูก็กระเด็นไปตามแรงเหวี่ยงได้เหมือนกัน
- HUD ที่ดูสบายตาขึ้น – จากแถบ HP แถบ MP แถบ Stamina โต ๆ บังสายตา ก็มาด้วยสไตล์แบบมินิมัล ลดขนาด สีสดยิ่งขึ้น พร้อมไอคอนที่ออกแบบใหม่ ดูแล้วจุดนี้ยังไงก็ไม่น่าจะมีคนบ่น แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้ทำให้แฟน ๆ เวอร์ชันเก่าเปิดรับทุกคนนะจ๊ะ เพราะสิ่งที่หายไปคือ แหวนไอคอนแหวนเหมียวสุดยูนีคที่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว แต่จะไปโผล่ในช่วงเครดิตแทน ก็ถือว่าเป็น Easter Egg ที่ขาดหายไปแลกกับการ Remake ครั้งนี้
- ระบบ Photo Mode – ขึ้นชื่อว่าเป็นเกมเปิดตัวเน็กซ์เจนทั้งที ไม่มีโหมดนี้ก็คงไม่ได้ ระบบ Photo Mode ถูกใส่เข้ามาพร้อมฟังก์ชันมากมายตั้งแต่ปรับท่าตัวละคร, เก็บอาวุธ, ปิดการแสดงหมวกเกราะ, ใส่การแสดงสีหน้าต่าง ๆ และอีกมากมายตามมาตรฐานที่ผู้เล่น PS4 น่าจะได้ลองกันมาก่อนในเกมใดเกมหนึ่ง
- ตัวละครที่สามารถปรับแต่งศัลยกรรมรูปลักษณ์ได้หลากหลายขึ้น
- ระบบช่องเก็บของใหม่และน้ำหนักของสมุนไพร – เป็นการเปลี่ยนที่มีลักษณะยื่นหมูยื่นแมว นั่นคือในเกมเวอร์ชัน Remake นั้น หากผู้เล่นพกของจนน้ำหนักล้นและไม่สามารถเก็บไอเทมตามทางได้อีกต่อไป ก็สามารถเลือกส่งไอเทมไปคนฝากของได้ในขณะนั้นเลย แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือน้ำหนักของบรรดาหญ้าสมุนไพรเล็กน้อย แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกมเพลย์มหาศาล ซึ่งจะเล่าต่อไปด้านล่าง
- Haptic Feedback – ความประทับใจขั้นสุดของการ Remake นี้ ต้องเก็บไว้เล่าด้านล่าง
- โหมด Fractured – เป็นโหมดที่เปิดผ่านรูปปั้นในเน็กซัส (ใช้การเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ 25,000 ดวง) พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นโหมดกลับด้าน ที่จะทำให้ฉากทั้งหมดรวมถึงตัวละครเราด้วยสลับจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย เป็นการเอาใจแฟน ๆ ที่เล่นภาคต้นฉบับจบมาหลายรอบแล้ว และอยากลองความท้าทายอะไรใหม่ ๆ ซึ่งผู้เขียนยังไม่ได้ลองโหมดนี้ในการเล่นจบรอบแรก แต่จากการสืบข้อมูลพบว่า จะมีไอเทม Ceramic Coins ซึ่งหากคุณเก็บสะสมได้ครบ 26 เหรียญ คุณก็สามารถแลกกุญแจเพื่อเปิดไปเอาชุดเซตอัศวินจอมทะลวงสุดเท่ได้อีกด้วย นับเป็นการสร้างประสบการณ์ที่สดใหม่พร้อมของรางวัล แต่สายเวทอย่างผมก็ได้แต่ยักไหล่แล้วไปทำอย่างอื่น เช่นการเขียนรีวิวนี้
Remake นี้เคี้ยวยากกว่าเดิมไหม?
เนื่องจาก Demon’s Souls Remake เป็นการยืนพื้นจากโค้ดของเวอร์ชันต้นฉบับ เกมเพลย์ประมาณ 90% จะอ้างอิงจากภาคแรก หากคุณเป็นผู้เล่นใหม่ ผมจะสรุปข้อมูลหลัก ๆ ให้แบบนี้ครับ
เกมจะเริ่มต้นด้วยการให้เราสร้างตัวละคร จะหนุ่ม แก่ ผมไฮไลต์สีไหน ก็เลือกได้ตามใจชอบ และส่วนสำคัญก็คือการเลือกคลาสที่เราจะเล่น ก็จะเป็นคลาสที่เราเห็นกันชินตา ทั้งอัศวิน นักบวช นักเวท และอีกมากมาย ซึ่งแต่ละคลาสก็จะมีอาวุธ อุปกรณ์สวมใส่ คาถา ค่า stat เริ่มต้น แตกต่างกันไป พร้อมเลือกไอเทมชูชีพอีกชุดหนึ่งที่เราเลือกได้เอง แต่ถึงแบบนั้น เกมก็ไม่ได้บังคับว่าคุณต้องเป็นอัศวิน หรือนักเวทตลอดทั้งเกม เพราะคุณสามารถใช้พลังวิญญาณมาอัปค่า Stat ปั้นความสามารถตัวละครที่อยากได้ตลอดจนจบเกม
สำหรับภาคนี้ขอบอกว่ายากมากครับ ยากในที่นี้คือตอบยากว่ามันยากกว่าของเดิมไหม ไม่ใช่แค่การที่ผมไม่เคยเล่นภาคต้นฉบับมาก่อน แต่ Demon’s Souls Remake ยังมีปัจจัยจากความแตกต่างที่ใส่เข้ามาตามที่บอกไปด้านบน เช่น หลายคนอาจจะคิดว่าระบบส่งไอเทมกลับช่องเก็บของอัตโนมัติทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่การที่เกมเปลี่ยนให้สมุนไพรเพิ่ม HP ซึ่งเป็นแหล่งพึ่งพิงทางจิตใจสูงสุดของเรามีน้ำหนัก แม้จะน้อยนิด แต่กลับส่งผลมหาศาลอย่างคาดไม่ถึง นั่นคือเราจะแบกสมุนไพรเป็นตัน ๆ ไปสู้บอสไม่ได้แล้ว
ส่วนการเดินทางในโลกของเกมภาคนี้จะต่างจาก Souls ภาคอื่น ๆ คือ Demon’s Souls ทั้งต้นฉบับและ Remake มีการแบ่งโลกให้เราเลือกเข้าไปลุยชัดเจน แต่ละโลกไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกันจนเป็นโอเพนเวิลด์ และถึงโลกแต่ละใบจะให้อารมณ์ความยากต่างกัน แต่การแบ่งโซนของโลกถือว่าใกล้เคียงกันมาก ก็คือโซนแรกเจอบอสตัวที่ 1 โซนที่สองเจอบอสตัวที่ 2 และพอปราบบอสตัวที่ 2 ได้ จุดเช็กพอยต์ (ในเกมเรียก ศิลาเอก) จะอยู่หน้าห้องบอสตัวที่สามซึ่งถือเป็นตัวสุดท้ายของโลกนั้นพอดี
ในสายตาคนหลายคน อาจคิดว่าความยากของเกม Souls Series มักจะไปโฟกัสที่ตัวของบอส แต่ความยากของบอสเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง และในสายตาผมไม่ได้ยากที่สุด ความโหดร้ายที่แท้จริงคือการออกแบบฉาก การลงโทษเมื่อเราทำพลาดทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่ง Demon’s Souls Remake ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เช่น การตายหนึ่งครั้งก็จะทำให้คุณสูญเสียร่างกาย แล้วคงสถานะในร่างวิญญาณ ซึ่งจะมีแถบพลังชีวิตสูงสุดลดลง หรือการบังคับเราให้ต่อสู้ในพื้นที่เสี่ยงตายเช่นบึงพิษ ขอบเหวที่มีศัตรูจ่อรอตรงหน้า แล้วหลาย ๆ จุดคุณจะพบว่าการฟาร์มวิญญาณไปอัปพลังก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก มันสำคัญที่คุณเชี่ยวชาญแผนที่ รู้ว่าตรงไหนต้องหลบ ศัตรูตัวไหนที่ต้องจัดการก่อน
ความยากของบอสเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง และในสายตาผมไม่ได้ยากที่สุด ความโหดร้ายที่แท้จริงคือการออกแบบฉาก การลงโทษเมื่อเราทำพลาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
การตอบคำถามนี้ยังซับซ้อนเข้าไปอีก ด้วยระบบ Word Tendency ที่จะมากำหนดความยากให้เรา (มีทั้งในเวอร์ชันแรกและเวอร์ชัน Remake) โดย World Tendency จะมีไอคอนคล้ายรูปลูกตาในเมนูของโลกแต่ละใบ หากดวงตามีสีขาวสว่าง ถือว่าคุณอยู่ในสถานะปกติ ศัตรูที่พบเจอก็จะเป็นศัตรูทั่ว ๆ ไป แต่หากคุณทำให้ World Tendency ลดลงจนเริ่มเป็นสีดำ (การเพิ่มและลดค่าของ World Tendency มีความซับซ้อนพอสมควร เช่น การที่คุณตายในร่างมนุษย์ก็ทำค่าของมันลดลง การช่วยเพื่อนแบบออนไลน์ก็ทำให้ค่านี้เพิ่มขึ้น และอีกมากมาย) คุณก็จะเจอกับศัตรูรายทางที่ตัวแดงแจ๋ มีความอึดและโหดร้ายกว่าศัตรูธรรมดาอย่างเทียบไม่ได้ แต่สิ่งที่จะได้มาทดแทนก็คือ คุณจะได้พบ NPC ลับ และของที่ดรอปได้จากศัตรูก็จะเป็นของชั้นดี ทำให้เกมนี้มีลักษณะพิเศษคือ ความยากง่ายมันจะถูกปรับขึ้นปรับลงไปตามการกระทำทั้งโดยตั้งใจ (อยากเล่นโหมด Fractured) หรือไม่ตั้งใจ (ตายในร่างมนุษย์บ่อย ๆ)
และถ้าคุณเล่นเกมนี้แบบออนไลน์ ระวังอุณหภูมิหัวจะสูงขึ้นด้วย เพราะเกมจะมีถ้วยให้เราต้องบุกไปฆ่าผู้เล่นในโลกคนอื่น เคราะห์ดีเคราะห์ร้ายสิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นกับคุณเองในตอนที่คุณกำลังใกล้จะผ่านจุดที่ยากที่สุดของด่านไปแล้ว…
พอมองด้วยสายตาของคนที่ข้ามไปเล่น Souls Series ก่อน แล้วหวนมาลองเกมภาคนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่าเกมภาคที่ตามกันออกมาก็คือการนำองค์ประกอบที่เกมภาคนี้วางรากฐานเอาไว้ไปรีไซเคิลบ่อยมาก แค่ทำให้มันเชื่อมโยงกันจนเป็นเกมโอเพนเวิลด์ เพิ่มของใหม่ ๆ กับปรับเปลี่ยนรูปแบบเกมเพลย์นิดหน่อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะครับ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาในใจพอเล่นจบแล้ว
บอส
ผมไม่รู้สึกว่าบอสของภาคนี้จะต้องใช้ความพยายามมากกว่า Souls เกมอื่น ๆ โดยเฉพาะถ้าคุณเล่นนักเวทและได้คาถาโล่ป้องกันสุดแกร่ง กับศรทะลวง ยิ่งทำให้การต่อสู้ง่ายขึ้นเยอะ แต่สิ่งที่ท้าทายความอดทนอดกลั้นขั้นสุดคือ การที่เกมลงโทษคุณด้วยระยะทางจากจุดเกิดไปห้องบอสต่างหาก ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ใน Dark Soul เหมือนกัน แค่ผมรู้สึกว่าระยะทางของภาคนี้มันดูยาวกว่าภาคอื่น ๆ แล้วลองนึกย้อนกลับไปในยุคสมัยของ PS3 ที่ยังไม่มี SSD สิครับ การตายและรอแต่ละครั้งคงเป็นอะไรที่ทำให้จิตใจท้อแท้มาก
ผมไม่รู้สึกว่าบอสเกมนี้ต้องใช้ความพยายามมาก แต่สิ่งที่ท้าทายความอดทนอดกลั้นขั้นสุดคือ การที่เกมลงโทษคุณด้วยระยะทางจากจุดเกิดไปห้องบอสต่างหาก
มีบอสเพียงตัวเดียวที่ผมรู้สึกขัดแย้งในใจว่าจะชอบหรือไม่ชอบดีก็คือ เทพมังกร ซึ่งเป็นงานออกแบบการต่อสู้ที่ค่อนข้างครีเอตมาก นั่นคือเราจะต้องฝ่าซากปรักหักพังเพื่อไปกดปุ่มให้เครื่องยิงศรยักษ์ใส่แขนทั้งสองข้าง โจทย์คือต้องหลบหมัดกับไฟมังกรให้ได้ ซึ่งการกลิ้งหลบดูแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยระยะการโจมตีที่กินวงกว้างมากของทั้งสองท่า แต่วายร้ายตัวจริงคือจังหวะการโจมตีของมัน ด้วยความที่ผมมาชนกับมันโดยไม่ได้ดูคลิปอะไรมาก่อน ผมก็คิดว่าตายสักสิบกว่ารอบน่าจะจับไต๋มันได้แล้ว แต่กับเทพมังกรไม่ใช่แบบนั้นครับ… ไม่ว่าจะใช้การหลบข้างเสา เดินตอนมันหันไปทางอื่น หรือใช้เวทล่องหน มันก็มีสิทธิ์จะโจมตีหรือไม่โจมตีได้หมด จนผมรู้สึกว่ามันก็แอบไม่แฟร์อยู่เหมือนกัน จนแม้แต่ตอนที่ปราบมันได้ จะเรียกว่าโชคช่วยก็คงใช่
สำหรับใครที่อยากชมการสู้บอสทั้งหมดในฐานะนักเวทสาย Glass Cannon (เน้นอัดแต่ค่าเวทกับ MP) เราก็ทำคลิปมาให้ชมด้านล่างแล้วครับ หรือคลิกที่นี่
Haptic Feedback
จากที่ผมได้นำเสนอรีวิวแกะกล่อง PS5 และบอกความประทับใจอย่างไม่คาดคิดของเทคโนโลยีนี้บนจอย Dualsense กับเกมที่ใช้การยิงธนูอย่าง Ghost of Tsushima มาแล้ว แต่พอได้มาลองอีกครั้งกับเกมเอ็กซ์คลูซีฟซึ่งจับเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นส่วนผสมในการพัฒนา ความประทับใจของผมก็พีคถึงขีดสุด มันไม่ใช่แค่การสั่นธรรมดาที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกม แต่มันเป็นการสั่นแบบผ่อนหนักผ่อนเบาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ผสานกับเสียงที่ออกมาจากลำโพงของจอย
ยกตัวอย่างนะครับ เวลาตัวละครผมเดินชนลังหรือสิ่งของจนแตก เสียงลังแตกจะดังออกจากลำโพงจอยเล็กน้อย พร้อมการสั่นเบา ๆ แต่ถ้าถึงฉากที่มีฟ้าผ่าใส่ต้นไม้เมื่อไหร่ เสียงลำโพงจะสนั่น การสั่นจะกระแทกขึ้นหลายริกเตอร์ หรือตอนฉากสู้บอสปิศาจเพลิงแฝงกาย ที่จะมีลาวาบนพื้น หากเราเหยียบบนลาวา จอยก็จะสั่นเบา ๆ แต่ต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับค่า HP ที่ค่อย ๆ ลดลง
ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมเมื่อเจอกับ Dualsense ทำให้ผมย้อนกลับมาคิดว่าความจริงเราอาจไม่ได้ต้องการความสมจริงถึงขั้นต้องใส่แว่น VR เข้าไปลุยในเกมอะไรขนาดนั้น เพราะลูกเล่นของจอยที่ดูเหมือนเล็กน้อยก็สร้างประสบการณ์ร่วมกับเหตุการณ์ในเกมอย่างคาดไม่ถึง จนผมอดตื่นเต้นไม่ได้เลยว่า เกมระดับ AAA เกมต่อ ๆ ไปที่จะเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้จริงจังขึ้น และเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อย ๆ มันจะยกระดับการเล่นเกมของเราไปไกลได้อีกแค่ไหน
การแปลภาษาไทย
ถึงจุดนี้ ผมคิดว่าผู้เล่นเกมเอ็กซ์คลูซีฟของ Sony หลายคนคงซึมซับกับมาตรฐานการแปลเกมต่าง ๆ มาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยพวกเขาก็ยังรักษามาตรฐานนี้ในเกม Demon’s Souls Remake ได้ ทั้งการแปลสื่อความหมาย การแปลแบบประดิษฐ์คำใหม่ (Transcreation) ขึ้นมาอย่างคำว่า อนุสรณ์ชน ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกติดขัดอะไร จะมีสะดุดใจบ้างบางประโยค เช่น เมื่อทำธุระกับ NPC เพื่ออัปเลเวลแล้ว นางก็จะพูดว่า “เจ้าเสร็จแล้วหรือ”
ด้านการสะกดยังไม่พบคำสะกดผิดที่ร้ายแรง แต่เจออยู่คำหนึ่งที่มีการสะกดผิดกันจนแทบจะเป็นเรื่องธรรมดาของในทุกวงการคือคำว่า นักเวทย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องเป็น นักเวท ที่แปลว่าผู้ร่ายคาถาอาคม เอาเข้าจริงถ้าผมไม่ได้เล่นสายนี้ ผมอาจมองข้ามจุดนี้ไปก็ได้ และอาจจะมีจุดอื่น ๆ ที่ตกสำรวจอีก แต่โดยรวมผมถือว่าการแปลยังรักษามาตรฐานได้ไม่ขาดตกบกพร่องจนต้องติกันแรง ๆ
สรุป
ถ้าถามว่าเกมนี้เป็นเกมเปิดตัว PS5 ที่สมศักดิ์ศรีไหม ถ้ามีร้อยก็ให้ร้อย มีล้านก็ให้ล้านล่ะครับ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับคำถามว่าเกมนี้เหมาะกับทุกคนไหม ซึ่งผมก็บอกได้ชัดเจนอีกเช่นกันว่า ไม่ครับ การเล่น Demon’s Souls Remake ยังคงเป็นการบำเพ็ญทุกรกิริยาของเกมเมอร์สายมาโซหลายคน แฟน ๆ เกม Souls Series ยังไงก็เทใจให้กับคุณภาพงาน Remake ขึ้นหิ้งนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณเคยเล่น Sekiro แล้วไม่ชอบ เล่น Bloodborne แล้วประกาศขายมือสอง ผมคิดว่าเกมนี้จะให้ประสบการณ์คล้ายกัน
แต่ถึงเกมนี้จะไม่เหมาะกับทุกคน ถ้าใครมีเครื่องอยู่แล้วผมก็ยังแนะนำให้คุณลองซื้อมาเล่น โดยที่เปลี่ยนเป้าหมายจากการเล่นให้จบ ไปเป็นการสัมผัสนวัตกรรมของ PS5 แทน ออกสำรวจพลังแสงเงาจาก Ray Tracing และเทคโนโลยี Haptic Feedback ของ Dualsense ร่วมไปกับการเดินถ่ายรูปตามโลกต่าง ๆ ผมคิดว่ามันก็คุ้มค่ามากแล้วครับ พูดตามตรงผมคิดว่าถ้าเขาจะขายคอนเทนต์ในเกมเพียว ๆ ผมก็คงให้คะแนนแถว ๆ เลข 8 ไม่เกินนี้ เพราะยังรู้สึกว่าเกมมีส่วนที่เน้นเอายากแบบไม่ค่อยแฟร์อยู่บ้าง แต่สิ่งที่ทำให้ Demon’s Souls Remake ไม่ใช่แค่การ “ทำใหม่” แต่เป็นการ “สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่” ก็เพราะเทคโนโลยีเน็กซ์เจน กับ Bluepoint Games ที่ผมต้องขอคารวะในความเป็นมืออาชีพมา ณ ที่นี้