Reviews

COMPANY OF HEROES 3 – รีวิว [REVIEW]

โดย ปอลนาโช่

รีวิว COMPANY OF HEROES 3

*ขอขอบคุณ SEGA สำหรับโค้ดเพื่อการรีวิว
**รีวิวนี้เล่นบน PC

ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ครับ! ว่าทำไมถึงมีกระแสโจมตีเกมนี้มากมายเลยทีเดียวในช่วงแรกของการวางจำหน่าย ต่อว่าเรื่องกราฟิกมั่งล่ะ ต่อว่าเรื่องระบบเกมมั่งล่ะ ไม่แน่ใจว่าเล่นเกมเดียวกันกับผมรึเปล่า?

โดยช่วงแรก ผมก็ตามอ่านในหน้าเว็บบอร์ดออนไลน์แบบงง ๆ จนเมื่อมีโอกาสได้รับตัวเกมมาทดลองเล่นเอง ผมจึงพอเข้าใจ ได้เห็นภาพรวมของกระแสสังคมทั้งหมด

มาดูกันครับว่าผมเห็นอะไร และมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเกมนี้ ใน Company of Heroes 3

STORY

ออกตัวก่อนว่า ผมเป็นแฟนขาประจำของซีรีส์นี้ ซื้อเล่นมาตั้งแต่ภาคแรก ต่อด้วยภาคสองและภาคเสริมต่าง ๆ สมัยก่อนผมเล่นพีซีเป็นหลักครับ ก่อนย้ายมาเน้นเครื่องคอนโซลสมัย PS3 ออกใหม่ ๆ

จำได้ว่าตอนที่ภาค 1 วางจำหน่าย ตอนนั้นถือว่าโด่งดังมากในไทย (หมายถึงในหมู่คนเล่นเกมคอมฯ ชาวไทย) เพื่อนฝูงคนรู้จักนี่เล่นกันหมด ตัวเกมสนุก สวยงามสมจริง (ตามยุคสมัยอดีต) มีฉากการดวลรถถังระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับรถถังไทเกอร์ของเยอรมันสุดดุเดือด ผมเล่นจบไปหลายรอบเลยทีเดียว

กลับมาว่ากันที่เรื่องของ Company of Heroes 3 ในภาคนี้ ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นกองกำลังพันธมิตรระหว่างการบุกอิตาลี และกองกำลังอักษะในการบุกยึดแอฟริกาเหนือ ขณะที่ฝ่ายหรือ Factions ที่เลือกเล่นได้ทั้งหมดในเกมมี 4 Factions คือ US Forces, British Forces, Wehrmacht (แวร์มัคท์) และ Afrikakorps (กองทัพน้อยแอฟริกา ของเยอรมนี) โดยฝ่ายใหม่ที่น่าสนใจในภาคนี้คือ Afrikakorps

Afrikakorps ถือเป็นกองทัพที่แหวกขนบที่สุดในเกม จะเหมาะมากสำหรับผู้เล่นที่ชื่นชอบสไตล์การเล่นแบบดุดันและคอยกดดันศัตรู พวกเขาจะได้ประโยชน์อย่างมากในการผสมผสานระหว่างพลทหารเดินเท้าและกองยานเกราะ ผู้เล่น Afrikakorps จะสามารถใช้งาน Half-track เพื่อปล่อยกำลังพลได้อย่างรวดเร็ว ส่วน Panzer III อันแคล่วคล่องก็ถือเป็นรถถังที่เปรียบได้กับม้างานประจำกองทัพ ระบบ Armored Reserves จะช่วยให้สามารถปล่อย Tiger Tank ที่สร้างความหวาดหวั่นให้ฝั่งตรงข้าม

ในท้องทะเลทรายอันไร้ปรานีของแอฟริกาเหนือนี้ Afrikakorps จำเป็นจะต้องอาศัยพึ่งพาความสามารถในการลากจูงพาหนะ เพื่อจัดวางเปลี่ยนตำแหน่งของปืนใหญ่ต่อต้านรถถังอย่าง Flak 36 88mm หรือไม่ก็ซ่อมแซมรถถังที่เสียหาย

และก็เช่นเดียวกับทุกขุมกำลังใน Company of Heroes 3, ที่ Afrikakorps จะมาพร้อมด้วยการสนับสนุนของ Battlegroups เพื่อรับมือกับสมรภูมิในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น Italian Guastatori, ที่มีชุดยูนิฟอร์มสีดำทั้งตัว มาพร้อมปืนไฟอันร้ายกาจ

ด้าน แวร์มัคท์ เป็นชื่อเรียกกองทัพนาซีเยอรมันนั่นแหละครับ ประกอบด้วยแฮร์ (กองทัพบก), ครีคส์มารีเนอ (กองทัพเรือ) และลุฟท์วัฟเฟอ (กองทัพอากาศ) แวร์มัคท์ถูกตั้งขึ้นมาทดแทนกองกำลังป้องกันประเทศที่เรียกว่า ไรชส์แวร์ การก่อตั้งแวร์มัคท์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานฟื้นฟูแสนยานุภาพของเยอรมนีในระดับที่เกินกว่าข้อบังคับของสนธิสัญญาแวร์ซาย หรือก็คือเพื่อให้เป็นกองทัพประจำจักรวรรดินั่นเอง

GAMEPLAY

Company of Heroes 3 มีคุณสมบัติใหม่สำหรับซีรีส์ เช่นระบบ Tactical Pause ซึ่งช่วยให้ผู้เล่นหยุดการต่อสู้ชั่วคราวและจัดคิวคำสั่งที่ต้องทำ Company of Heroes 3 ยังมีระบบการทำลายล้างที่ได้รับการปรับปรุงซึ่งให้การทำลายล้างที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น กระเบื้องแต่ละแผ่นและก้อนอิฐที่พังทลายจากอาคารต่าง ๆ ไปจนถึงระบบเปลวเพลิงที่สมจริงมาก ๆ

สิ่งทีทีมงาน Relic ทำในภาคนี้คือการแนะนำแผนที่ไดนามิกที่ไม่เพียงแต่นำองค์ประกอบกลยุทธ์ไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้โหมดแคมเปญสามารถกลับมาเล่นซ้ำได้หลายรอบ ซึ่งระบบนี้จะคล้าย ๆ กับเกมตระกูล Total War นั่นเอง

ยกตัวอย่างแคมเปญที่อิตาลีผู้เล่นจะต้องยึดครองเมืองท่าเพื่อขยายอิทธิพลและกองทัพของตน บางเมืองจะต้องมีการต่อสู้ชุลมุนในขณะที่เมืองอื่น ๆ จะต้องเข้าถึงเพื่อยึดครอง แต่ละเมืองมีทรัพยากรมากขึ้นเมื่อยึดได้ ในขณะที่เมืองอื่นๆ จำเป็นสำหรับภารกิจแคมเปญหลัก มีผู้บัญชาการที่แตกต่างกันสามคนที่ต้องเอาใจตามการตัดสินใจ ยิ่งพวกเขาพอใจมากเท่าไหร่ พวกเขาจะปลดล็อกความสามารถพิเศษเพิ่มเติมให้กับคุณ

ทั้งหมดนี้เป็นแบบเทิร์นเบส ดังนั้นมันจึงให้ความรู้สึกเหมือนการเล่นเกมกระดานผู้เล่นจะต้องบริหารจัดการทรัพยากรทั้งบนบก ทะเล และในอากาศ การจัดการความเหนื่อยล้าของทหารราบและหน่วยและอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

ด้านยูนิตต่าง ๆ ของผู้เล่น มีการตัดสินใจที่ดีพอใช้เกี่ยวกับเส้นทางที่จะนำไปสู่จุดหมาย โดยที่กำบังเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของทหารราบ และการขนาบข้างศัตรูเป็นกุญแจสำคัญในการได้รับชัยชนะ แต่ในส่วนของยานเกราะ หลายครั้งยังเลือกเส้นทางผิดหลักความเป็นจริงอยู่พอสมควร

ART & CREATIVITY

มาถึงหัวข้อสำคัญด้านกราฟิกความสวยงามในเกม ผมบอกเลยว่า มันสวยกว่าภาคเก่า ๆ ก็จริง แต่ยังไม่มากนัก ยกเว้นคุณจะมีชุดคอมพิวเตอร์ที่เครื่องแรงมาก ๆ ด้านการออกแบบฉาก ผมชื่นชมการออกแบบให้มีลูกเล่น มีอุปสรรคพิเศษเฉพาะในบางพื้นที่ ซึ่งผู้เล่นต้องปรับแผนการบุกโจมตีตลอดเวลา เพื่อให้สอดรับกับสภาพภูมิประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมพบว่า เมื่อดูรวม ๆ แล้ว ฉากทั้งหมดในเกมยังขาดรายละเอียดไปเยอะ มันดูหยาบ ๆ ราบเรียบเกินไปในบางจุด และยิ่งเล่นเกมนานประสิทธิภาพของเฟรมเรตก็จะยิ่งแย่ลง เห็นได้ชัดว่าเกม RTS นั้นใช้ CPU มาก

สำหรับสิ่งที่โดดเด่นเกี่ยวกับงานภาพในเกมนี้ก็คือ การทำลายสิ่งก่อสร้างและเอฟเฟกต์ของระเบิดและเปลวไฟ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ พังทลายได้สมจริง โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออาคารยังเห็นได้แบบเรียลไทม์ ขณะที่ เครื่องพ่นไฟคือไฮไลต์สำคัญของภาคนี้เลยครับ ใช้เป่าใส่ป้อมปืนข้าศึกที่ไรสะใจทุกที

CONCLUSION

แล้วก็มาถึงการตอบคำถามที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าทำไมแฟนเกมบางกลุ่มถึงไม่พอใจต่อตัวภาค 3 นี้ นั่นก็คือ มีหลายคนคิดว่า ภาคนี้ทำได้ไม่ดีเท่า Company of Heroes 2 ครับ อาทิ เรื่องกราฟิกที่ดูเหมือนเกมมือถือ ภาค 2 สวยกว่าเยอะ (ตามที่บางคนกล่าวอ้าง), รายละเอียดหลายอย่างด้านเกมเพลย์ที่ดูแล้วตกต่ำลง ฯลฯ

สำหรับตัวผมเอง ผมคิดว่าทาง Relic ได้นำทุกสิ่งที่ทำให้สองภาคแรกออกมายอดเยี่ยม เอามารวมกันแล้วพยายามสร้างระบบใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้าไป พวกเขาพยายามออกแบบเกมเพื่อให้ง่ายต่อการพอร์ตไปสู่คอนโซลในอนาคตมั้ย…เป็นไปได้

ตัวเกมยังมีบั๊กอยู่เยอะมั้ย ตอบเลยว่ามี แต่ผมมองว่า ด้วยความเป็นเกมพีซี มันยังสามารถปรับแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นได้อีกไม่ยาก แต่เท่าที่ดูตอนนี้ผมบอกได้ว่าเราได้ผลงานเกมที่เล่นสนุกมากเกมหนึ่งมาไว้ในมือ มันมีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นเกม RTS ที่เล่นได้ดีทั้งซิงเกิลและมัลติเพลเยอร์ มันมีระบบเกมที่ยืดหยุ่นพอสมควร ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยความสมจริงที่ลดทอนลงไปบ้าง

ทีนี้ผมขอสรุปส่งท้ายว่า หากคุณยังไม่แน่ใจใน Company of Heroes 3 ก็ให้ลองไปดูยูทูบเกมเพลย์เยอะ ๆ แล้วตอบตัวเองดูว่าชอบมั้ย ถ้าถามผม ผมชอบมาก และผมก็เชื่อว่าภาคนี้จะถูกใจแฟน ๆ เกม Company of Heroes ส่วนใหญ่ อย่างแน่นอน

Pros

  • แคมเปญเล่นเดี่ยวแบบ Dynamic ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับการเล่นในแต่ละรอบ
  • ระบบ Tactical Pause ที่ถ้าฝึกใช้ให้ดีจะมีประโยชน์มากในหลายสถานการณ์
  • กราฟิกปืนพ่นไฟโคตรสะใจอ่ะ!

Cons

  • บั๊กประปราย พบเห็นได้ตลอดแคมเปญ
  • กราฟิกและดีเทลประกอบฉากยังถือกว่าต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับสเปคคอมฯ ที่ต้องใช้ในการรันตัวเกม

The Review

80% เกมสงครามที่อนุรักษ์นิยมในแนวของตัวเอง

Company of Heroes 3 คือการกลับมาสู่วงการอีกครั้งของแฟรนไชส์ที่หายหน้าหายตาไปกว่าสิบปี โดยมาคราวนี้มีทั้งเสียงต้อนรับและเสียงโห่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ขอฟันธงว่า ตัวเกมสามารถผ่านเข้าเส้นชัยได้หวุดหวิด และน่าจะได้ไปต่อกับภาคใหม่ ๆ ในอนาคต

80%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์