Reviews

Avatar: The Last Airbender – Quest for Balance – รีวิว [Review]

โดย ปอลนาโช่

รีวิว Avatar: The Last Airbender – Quest for Balance

*ขอขอบคุณโค้ดเกม (PS5) เพื่อการรีวิว จากบริษัท Ripples Thailand มา ณ โอกาสนี้ครับ

หะแรกที่ผมเปิดเข้าเล่นเกม Avatar: The Last Airbender – Quest for Balance ผมรู้สึกว่าตัวเกมให้บรรยากาศเป็นแอ็กชันกึ่งแพลตฟอร์ม ในสไตล์เดียวกับเกมอย่าง Jackie Chan Stuntmaster ยังไงยังงั้น โดยตัวเกม Avatar จะมีฉากการเล่นตัดสลับกับคัตซีนที่เป็นการ์ตูนภาพนิ่งอธิบายเรื่องราวในเกม

ทีนี้ เมื่อถึงเวลาอันสมควรที่ผมต้องมาสรุปรวบยอดความคิดเพื่อเขียนเป็นรีวิวชิ้นนี้ ผมอยากชวนท่านผู้อ่านที่สนใจเกมนี้, และแวะเวียนเข้ามาตรวจสอบข้อมูลของเกมก่อนตัดสินใจซื้อหามาเล่นกันนั้น, ให้มาพูดคุยกันในประเด็นที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าเกมสำหรับเด็กแล้ว…มันควรจะต้องมีคุณภาพประมาณไหนกันแน่?”

STORY

ก่อนอื่น เรามาดูเนื้อเรื่องเริ่มต้นในเกมกันก่อนครับ กล่าวคือ Quest for Balance จะติดตามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเวอร์ชันแอนิเมชัน โดยเล่าผ่านบรรดาสมาชิก White Lotus เริ่มต้นด้วยการตัดสินใจของแองที่จะหนีออกจากวัด โดยฉากนี้ทำหน้าที่เป็นบทช่วยสอนช่วงแรกของเกม หลังจากที่เล่นผ่านมันไปได้ เกมจริงจะเริ่มต้นด้วยฉากสำคัญจากตอนแรกของโชว์นั่นคือ The Boy in the Iceberg

Quest for Balance แบ่งเรื่องราวสามซีซันของ Avatar ออกเป็น 18 ด่านในเกม โดยแต่ละด่านจะเล่าเหตุการณ์ที่ย่อส่วนมาจากเวอร์ชันการ์ตูน และระหว่างฉากต่าง ๆ นั้น จะมีมินิเกมคั่นกลาง เป็นตัวแทนการเดินทางข้ามพื้นที่ของตัวละครในเรื่อง โดยมินิเกมที่พูดถึงนี้ทำออกมาคล้าย ๆ เกมมือถืออย่าง Temple Run ที่จะให้คุณวิ่งเก็บเหรียญสลับกับคอยหลบหลีกอุปสรรคขวางทางต่าง ๆ

ทีนี้ เมื่อผมเริ่มปะติดปะต่อสไตล์เกมที่ได้ลองเล่นนี้ เข้าด้วยกัน ก็ให้สงสัยขึ้นมาว่าใครกันนะที่เป็นทีมพัฒนาให้กับ Quest for Balance?

จากข้อมูลที่ได้มาก็พบว่า ทีมงานเบื้องหลังนั้นก็คือ บริษัท bamtang games จากกรุงลิม่า ประเทศเปรู มีผลงานเกมที่ผ่านมาทั้งเกมมือถือ, พีซี และคอนโซล โดยเกมเหล่านั้นก็ได้แก่ ดรีมเวิร์ก ออลสตาร์ คาร์ทเรสซิ่ง, นิคเคโลเดียน คาร์ท เรเซอร์, เพาเวอร์เรนเจอร์ เมก้าแบทเทิล ฯลฯ

ใช่แล้วครับ บรรดาเกมที่เราเรียกกันทั่วไปว่า เกมสำหรับเด็กนั่นเอง

GAMEPLAY

ทีนี้…ขึ้นชื่อว่าเกมสำหรับเด็ก ตัวเกมจำเป็นต้องเล่นง่าย, ออกแบบมาง่าย ๆ ด้วยหรือไม่? เดี๋ยวคำถามนี้ผมจะไปชวนคุยกันในช่วงสรุปท้ายบทความ โดยผมจะขอเล่าประสบการณ์เกมเพลย์ที่เจอระหว่างเล่น ให้ทุกท่านได้รับทราบกันก่อน

Avatar: The Last Airbender – Quest for Balance เป็นเกมแอ็กชัน ตะลุยด่านผสมการไขปริศนาและการเล่นเชิงแพลตฟอร์ม ผู้เล่นสามารถสลับตัวละครไปมาในฉากเพื่อใช้พลังความสามารถเฉพาะของแต่ละคนได้

ปัญหาแรก (และเป็นปัญหาใหญ่) ที่พบก็คือ มุมกล้องในเกมนี้ไม่เอื้อต่อการเล่นผ่านด่านแพลตฟอร์ม ผมไม่แน่ใจว่าผมใช้คำถูกหรือไม่ ระหว่าง “ไม่เอื้อ” กับ “ออกแบบมาผิดพลาด” โดยเฉพาะกับการกระโดดข้ามระหว่างสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่มุมกล้องไม่หมุนตาม หรืออย่างน้อยก็ควรฉายภาพกว้างให้เราคาดเดาองศาได้ แต่มุมกล้องในเกมกลับสถิตนิ่ง คนเล่นต้องกะเอาเอง ซึ่งหลายครั้งเลยที่เราคิดว่ากระโดดผ่านแล้วแน่ ๆ แต่กลับไม่รอด ตกจากที่สูงต้องกลับไปเริ่มใหม่ที่ชั้นล่างสุด (อย่าลืมนะครับว่าเกมนี้…สำหรับเด็ก)

อีกตัวอย่าง คือระหว่างทางในด่าน หลายครั้งจะมีอุปสรรคในรูป กล่องลังไม้, แนวหิน, แนวกำแพงน้ำแข็ง ขวางทางไว้ ตัวเกมออกแบบให้ใช้พลังวิชาที่ต่างกันของแต่ละคน ทำลายสิ่งกีดขวางเหล่านี้เพื่อไปต่อ ทีนี้เวลาเราทำลายไปแล้วเนี่ย ไอ้สิ่งกีดขวางนั้น ๆ ชิ้นที่อยู่ใกล้จอมากที่สุด (ถ้าตามสายตาคนเล่น คืออันที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด) มันมักจะไม่ค่อยโดนทำลายไปพร้อมกัน ทำให้ไอ้วัตถุชิ้นนั้นมันจะคอยบังจอเราครับ ถ้ามีศัตรูก็จะมองไม่ค่อยเห็น ต้องไล่ทุบทำลายให้เกลี้ยงเสียก่อน

อีกหนึ่งปัญหาคาใจผู้เขียน คือฮิตบ็อกซ์เกมนี้มันแกว่ง ๆ หลวม ๆ ตีเหมือนไม่โดนแต่โดน, ตีโดนแน่ ๆ แต่พลังไม่ลด …คือมันเป็นฟีเจอร์หรือยังไงไม่ทราบ ไม่แน่ใจว่าหลุดเพลย์เทสต์มาได้อย่างไร

ART & CREATIVITY

กราฟิกโดยรวมคล้ายเกมจากยุค PS2 ที่ปรับให้เป็น HD ขณะที่ฉากคัตซีนส่วนที่เป็นเอนจิ้นจากเกมนั้นตัวละครที่เป็นตัวประกอบ ปากจะไม่ขยับแต่มีเสียงพูด ส่วนพวกตัวละครหลักปากขยับตามแต่ไม่ตรงกับคำที่เปล่งออกมา

ทางด้านคัตซีนระหว่างฉากใหญ่ ๆ จะเป็นการ์ตูนกราฟิกภาพนิ่ง เล่าเรื่องราวสรุป เหตุการณ์ช่วงนั้น ๆ ในเกม

CONCLUSION

มาถึงการตอบปมกระทู้ถามที่ผมจั่วหัวไว้ตอนต้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมีความคิดเห็นเช่นนี้ครับ…ก็คือ ผมมองว่า ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นเกมสำหรับเด็ก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพต่ำกว่าเกมทั่วไป เพราะหัวใจสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ที่ซื้อเกมให้เด็กเล่นแบบเรา ๆ ท่าน ๆ นั้น ที่ต้องคำนึงถึงเสมอก็คือ ผลกระทบต่อตัวเด็กที่เล่น ต้องคิดว่าเขาจะเจอกับอะไร จะเล่นเกมแบบไหน และได้อะไรบ้างจากการเล่นนั้น

ฉะนั้น เกมคุณภาพดี ๆ ย่อมส่งผลที่ดีต่อตัวเด็ก ทั้งในแง่การฝึกฝนทักษะ การพัฒนาทางอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ หลังได้เล่นเกม

สำหรับผมนั้น “เกมเด็ก ๆ” ที่ผมจะเลือกให้หลานผมเองได้เล่น ก็ควรเป็นเกมที่คุณภาพดี ถึงจะเป็นเกมที่เล่นได้ง่ายก็ต้องคุณภาพดี มีตรรกะที่ถูกต้อง สามารถทำความเข้าใจได้ตามหลักความจริงไม่ผิดเพี้ยน และแสดงผลตรงตามตรรกะนั้นได้จริง

ฉะนั้น ผมมองว่า Avatar: The Last Airbender – Quest for Balance ยังทำออกมาได้ไม่ดีพอที่ผมจะแนะนำให้เด็กได้เล่นอ่ะครับ เล่นไปพลางจะกลายเป็นเด็ก EQ ต่ำหันไปปาจอยกันเสียมากกว่า 555 เอาเป็นว่า ถ้าชอบ Avatar: The Last Airbender ก็ไปดูหนังการ์ตูนแทนดีกว่านะครับ

The Review

50% Avatar: The Last Airbender - Quest for Balance

Avatar: The Last Airbender - Quest for Balance ขึ้นชื่อว่าเกมสำหรับเด็กแล้ว...มันควรจะต้องมีคุณภาพประมาณไหนกันแน่?

50%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์