รีวิว JDM: Japanese Drift Master
*ขอขอบคุณ Epicsoft Asia, 4Divinity และ Gaming Factory สำหรับโค้ด PC เพื่อการรีวิว
ขอสารภาพเลยว่า JDM เป็นเกมแข่งรถที่ผมรอเล่นมาตั้งแต่เขาประกาศเปิดตัวพัฒนามาก่อนหน้านี้หลายปี เพราะผมสนใจการนำเสนอที่ทีมงาน Gaming Factory (จากประเทศโปแลนด์) ตั้งใจเน้นไปที่สไตล์เรซซิ่งแบบเดียวกับในการ์ตูน initial d ซึ่งเป็นมังงะเรื่องโปรดของผม และเชื่อเหลือเกินว่าการ์ตูนเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องโปรดของใครหลายคนแน่ ๆ
อย่างไรก็ดี ทีมงานเขาใช้เวลาพัฒนาเกมค่อนข้างนานพอสมควร และตลอดเวลาดังกล่าว เขามีความพยายามเสริมฟีเจอร์ร่วมสมัยของเกมแข่งรถที่เกมอื่น ๆ เขามีกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้างโลกโอเพ่นเวิลด์ขนาดกระทัดรัดขึ้นมา แล้วให้คนเล่นขับไปหาภารกิจย่อย ๆ ในแผนที่ ซึ่งกลายเป็นโครงสร้างมาตรฐานของเรซซิ่งเกมยุคนี้ไปซะแล้ว
แต่ก็เอาล่ะ ในที่สุดตัวเกมก็คลอดออกสู่ท้องตลาดได้เสียที โดยผมใช้เวลาทดสอบเกมนานไปเสียหน่อย เพราะอยากลงลึกเล่นให้ครบในหลาย ๆ โหมด ก่อนเก็บเอาดีเทลน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง …งั้นไปเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
อ๊ะ! ขอเบรกเอี๊ยดแป๊บนึง! สำหรับใครอยากอ่านบทสัมภาษณ์ทีมงาน Gaming Factory เราก็มีด้วยนะ เป็นเอ็กซ์คลูซีฟโดยทีมงานไทยเกมวิกิจัดทำขึ้นมาโดยเฉพาะครับ
คลิกอ่าน สัมภาษณ์ทีมพัฒนา JDM: Japanese Drift Master
สำหรับ JDM: Japanese Drift Master เป็นเกมแข่งรถแบบโอเพ่นเวิลด์ในบรรยากาศประเทศญี่ปุ่น ดำเนินเรื่องราวด้วยการ์ตูนภาพมังงะ (แต่ลายเส้นดูออกว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่นวาด) เล่าเรื่องราวชีวิตของหนุ่มน้อยนักซิ่งนามว่า Tomasz Stanowski หรือชื่อเล่นคือ Touma ที่เดินทางจากยุโรปมาสู่ประเทศญี่ปุ่นในเมืองสมมติชื่อว่า Guntama (ลองเข้าไปเล่นดูครับแล้วจะร้องอ๋อว่านี่มันเมืองแห่งเทือกเขาอากินะชัด ๆ) โดยเมืองนี้เต็มไปด้วยวัยโจ๋นักดริฟต์เพ่นพ่านอยู่เต็มไปหมด
ขอบอกไว้ก่อนว่า ตัวเกมใช้ชุดพัฒนาของ Unreal Engine 5 ทำให้กราฟิกที่ได้ดูดีกว่าเกมอินดี้ทั่วไปอยู่มากโข แต่ยังไม่คมชัด เนียนสวยสมจริงแบบเกมแข่งรถระดับ AAA ร้อยกว่ากิ๊กเกมอื่น ๆ ของ JDM นี่อยู่ในระดับพอรับได้เท่านั้นครับ
มาดูกันที่รุ่นรถกันบ้าง ซึ่งประเด็นนี้แหละ เป็นจุดอ่อนสำคัญของเกมจากค่ายเล็กที่สู้รุ่นใหญ่เขาไม่ได้ เพราะเกมนี้เขาได้ลิขสิทธิ์มาน้อยมาก ในเกมมีรถให้ขับได้แค่ราว 27 คัน, ลงทุนซื้อสิทธิ์ภาพลักษณ์จากบริษัทรถยนต์มาได้แค่ไม่กี่คันจาก ฮอนด้า, มาซด้า, นิสสัน และซูบารุ ที่เหลือต้องใช้การสร้างตัวเลียนแบบเอาเอง เช่น รถ Yotsuhoshi ในเกมก็คือมิตซูบิชิ ส่วนรถ Alpha Moriyamo ก็คือตัวก๊อปปี้ของ Toyota AE86
อย่างไรก็ดี จุดแข็งสำคัญของ JDM นั้นคือ “การควบคุมรถ” ครับ เกมนี้ทำได้โดดเด่นเหลือเชื่อ นี่พูดในฐานะที่ผมรับเหมารีวิวเกมแข่งรถให้กับไทยเกมวิกิมาโดยตลอดด้วยนะ โดยโหมดควบคุมเกมแบบอาร์เคดที่เข้าถึงง่ายและแนะนำสำหรับผู้เล่นเกมแพด เพียงแค่เล็งไปที่มุม apex ท้ายรถของคุณจะหมุนเป็นเพาเวอร์สไลด์ที่ควบคุมง่าย, โค้งสวย, และเกมยังมีการใช้ปุ่มสามเหลี่ยมเพื่อใช้คลัตช์ช่วยในการหักดริฟต์เข้าโค้งอีกด้วยนะ
ส่วนระบบฟิสิกส์ simcade ที่หากเล่นด้วยมุมมองหลังพวงมาลัย จะยิ่งเพิ่มความสมจริงคล้ายการขับรถจริง แต่จะควบคุมยากขึ้นมาชัดเจน ผมว่าเอาไว้เล่นสนุก ๆ ได้ แต่ถ้าต้องทำเวลาแข่งขันผ่านภารกิจ ผมแนะนำมุมมองดีฟอลต์ของเกมแบบเห็นทั้งตัวถังจะเล่นง่ายกว่า
สีสันของ JDM ที่โดดเด่นชัดเจนก็คือการขับแข่งกันผ่านโค้งหักศอก สาดดริฟต์ เอี๊ยด ๆๆ มันให้อารมณ์สะใจดีชะมัด และเกมเขาออกแบบให้ใช้จอยแพดควบคุมได้ง่าย ๆ มันเลยยิ่งเพิ่มความสนุกสะใจได้ดียิ่ง
แต่พอจะมีเรื่องดี…เกมก็เผยจุดอ่อนให้เห็นอีกแล่ววว นั่นก็คือบรรดา AI คู่แข่งที่ไร้สาระ ไร้ความสมจริง และเป็นข้อด้อยของเกมจากทีมพัฒนาขนาดเล็กแบบเห็นได้ชัด ไม่ต้องอะไรหรอกครับ…หากคุณลองเล่นเกมใหญ่อย่าง กรันตูริสโม 7 มาก่อนจะยิ่งเห็นความต่างห่างชั้นได้แบบชัดเจนที่สุด ซึ่งผมก็เข้าใจนะ ขนาดทีม, ขนาดทุนสร้างมันต่างกันเยอะ งั้นคนเล่นก็ต้องทำใจตรงจุดนี้ให้ได้เหมือนกัน
หันมาดูระบบการแต่งรถ ใน JDM: Japanese Drift Master, ผู้เล่นจะได้ปรับแต่งทุกรายละเอียดของรถที่ตนขับ ตั้งแต่ตัวถัง กันชน ไปจนถึงกระจก สปอยเลอร์และท่อไอเสีย แม้แต่ภายในรถก็แต่งได้ ไม่ว่าจะพวงมาลัย กระปุกเกียร์ และเบาะนั่งเพื่อความดื่มด่ำในสไตล์นักซิ่งเจแปน
ในด้านของสมรรถนะนั้น พวกชิ้นส่วนไฮเอนด์เช่นโช๊คที่ปรับแต่งได้ องค์ประกอบควบคุมการเลี้ยว และอื่น ๆ จะให้ผู้เล่นได้ปรับแต่งทุกองค์ประกอบของตนอย่างละเอียดยิบ อัปเกรดหลายอย่างจะปลดล็อกชั้นการปรับแต่งเพิ่มเติม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยวดริฟต์ให้ได้มุมเป๊ะหรือการยึดเกาะที่สมดุลและแรงเครื่องยนต์ในฝัน
ทุกการปรับแต่งและการตัดสินใจของคนเล่นล้วนสำคัญ และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือรถซึ่งไม่เพียงแต่ดูเหมือนขาดริฟต์ระดับตำนานแต่จะขับขี่แบบรถในตำนานได้เช่นกัน
ขณะที่ความก้าวหน้าในเกม จะอาศัยการทำภารกิจแข่งรถทั้งหลายในฉากเพื่อสะสมเงินรางวัลมาใช้อัปเกรดรถของคุณ (หรือซื้อรถใหม่เพิ่มเติม) โดยรูปแบบภารกิจมีหลากหลาย ไม่ใช่เน้นการแข่งความเร็วเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น ภารกิจส่งซูชิข้ามภูเขาแบบเร่งด่วนและห้ามไม่ให้หน้าซูชิเสียหาย ล้มระเนระนาด, การแข่งดริฟต์โชว์สะสมแต้มในสนามขนาดเล็ก ๆ ของชุมชน เป็นต้น
จากนั้น เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ เส้นทางนักแข่งของ Touma จะพาเขาไปเจอภารกิจที่ท้าทายยิ่งขึ้น ยากมากขึ้น และเดิมพันสูง ๆ ที่มาพร้อมคู่แข่งฝีมือดีและดูโคตรเท่อีกเพียบ
สรุป
มาถึงบทสรุป…ผมขอพูดแบบนี้ดีกว่า กล่าวคือ JDM: Japanese Drift Master มันเป็นเกมขนาดเล็ก มีความฝันในแบบของตัวเอง มีความตั้งใจที่ดี และที่สำคัญ ตั้งค่าตัวไว้แค่ 680 บาท ซึ่งแน่นอนว่ามันจะไม่มีฟีเจอร์หลากหลายเหมือนเกมแข่งรถค่ายใหญ่ เอาจริง ๆ มันขาดอะไรไปหลายอย่างเลยแหละ 555 แต่มันก็ยังพอเล่นได้ เล่นสนุก และมีเสน่ห์ในระดับหนึ่ง หากคุณสนใจ และชื่นชอบในแวดวงรถ JDM ผมแนะนำให้ลองเล่นกันดูครับ ไม่เสียหายหรอก เกมดีอยู่
หมายเหตุ:
ติดตาม JDM: Japanese Drift Master บนโซเชียล:
https://linktr.ee/japanesedriftmaster
wishlist บน STEAM:
https://store.steampowered.com/app/1153410/Japanese_Drift_Master
wishlist บน EPIC:
https://store.epicgames.com/p/japanese-drift-master-b4fd48
wishlist บน GOG: https://www.gog.com/en/game/japanese_drift_master