Articles Games News

UTOPIA นิยายที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเกม Metaphor Re:Fantazio

โดย G-jang

UTOPIA นิยายที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเกม Metaphor Re:Fantazio

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหา (Spoiler) ในช่วงท้ายเกม

ยูโทเปีย นิยายแฟนตาซีในเกม Metaphor Re:Fantazio

Metaphor Re:Fantazio นั้น คือเกม RPG อันเป็นผลงานล่าสุดจาก Atlus ที่สร้างขึ้นจากฝีมือของหัวกะทิในบริษัทที่เคยฝากผลงานอย่าง Persona 3, Persona 4 และ Persona 5 เอาไว้ให้เกมเมอร์ได้สัมผัสและชื่นชอบกันมานักต่อนัก ซึ่งเกมล่าสุดนี้ก็จับเอาโลกแฟนตาซีในฉบับที่แปลกใหม่และโดดเด่นมีเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง ที่ผู้เล่นจะต้องออกผจญภัยเพื่อขจัดความโกลาหลและความวุ่นวายในอาณาจักร Euchronia (ยูโครเนีย)

นอกจากเนื้อหาเกมบอกเล่าความขัดแย้งด้านเชื้อชาติที่สั่งสมมายาวนานของอาณาจักรแห่งนี้และถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของเรื่องราวที่ช่วยขับเน้นเนื้อหาให้เข้มข้นและมีความหนักหน่วงสมจริงสมจังแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องราวในเกม ก็คือนิยายแฟนตาซีอันมีชื่อว่า Utopia (ยูโทเปีย) ที่ตัวเอกของเกมพกติดตัวไปไหนมาไหนตลอดเวลาและมักหาเวลาอ่านเมื่อมีโอกาสเสมอ

ในเกมนั้นมีการเปิดเผยเรื่องราวว่าผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ก็คืออีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ชื่อว่า More (มอร์) ซึ่งตัวเอกได้พบกับเขา ณ ดินแดนอันอยู่ระหว่างโลกกายภาพกับจิตสำนึกนั่นเอง โดยที่มอร์บอกว่านิยายของเขานั้นเขียนขึ้นหลังจากที่ได้ออกเดินทางตระเวนไปทั่วในวัยหนุ่ม และบอกเล่าเรื่องราวของสังคมในยุคโบราณกาลที่ล่มสลายไปจนหมดสิ้นแล้วในอดีต ซึ่งสังคมอุดมคติหรือยูโทเปียในความเห็นของเขานั้น บอกเล่าว่ายูโทเปียคือสถานที่ที่ไร้ซึ่งความขัดแย้งด้านเผ่าพันธุ์ ไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนล้วนเท่าเทียม ปราศจากความขัดแย้ง ทุกคนล้วนเป็นมิตรสหายกัน ฯลฯ และสารพัดสารพันอีกมากมาย

มอร์บอกกล่าวกับตัวเอกในช่วงแรกว่า เขาโดนจองจำเอาไว้ในที่แห่งนี้ด้วยฝีมือของกษัตริย์ Hythlodaeus V (ฮิธโลเดียสที่ห้า) ซึ่งเขาคาดเดาว่าที่โดนจองจำก็เป็นเพราะงานค้นคว้าวิจัยของเขาที่ทำให้กษัตริย์ไม่พอใจ แต่ทว่าตัวเขาเองกลับจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแน่ชัดไม่ได้ จนท้ายที่สุดเรื่องราวในเกมก็ได้เฉลยว่าอันที่จริงนั้นตัวเขาเองก็เป็นร่างแบ่งภาคของกษัตริย์ฮิธโลเดียสที่ห้าเองนั่นล่ะ ดังนั้นนิยายยูโทเปียก็คือความคาดหวังหรืออุดมคติของเขาที่ต้องการสร้างอาณาจักรของตนให้เป็นดั่งสังคมในนิยายของตนเอง เพียงแต่ว่าความหวังของเขาไม่อาจเป็นจริงได้เพราะโดนลอบสังหารไปเสียก่อน

ในตอนท้ายเกมนั้น มอร์ได้พยายามโน้มน้าวตัวเอกให้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองในอุดมคติของตนเอง (ที่อ้างอิงภาพลักษณ์มาจากชินจูกุ) เป็นโลกแห่งความจริงแทน เพราะตัวเขานั้นหมดหวังกับการสร้างโลกให้ดีขึ้น และการต่อสู้เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ในมุมมองของเขา แน่นอนว่าตัวเอกปฏิเสธและก็ได้ตระหนักว่ายูโทเปียของมอร์เองก็ไม่ใช่โลกในอุดมคติแต่อย่างใด เพราะตัวเอกนั้นเลือกที่จะเชื่อมั่นในอนาคตแทนที่จะโหยหาสังคมและความเป็นอยู่ของโลกอดีตที่ล่มสลายไปนานแล้วนั่นเอง เมื่อเขาพ่ายแพ้ให้ตัวเอกก็จึงฝากฝังความเชื่อมั่นในการสร้างโลกที่ดีขึ้นไว้กับตัวเอกต่อไป

หากจะกล่าวไปแล้ว นิยายยูโทเปียในเกมนี้ก็แน่นอนว่าเป็นเพียงแค่นิยายเท่านั้น เช่นเดียวกันกับตัวเนื้อหาของเกมที่มีสถานะเป็นเพียงเรื่องแต่งและเรื่องสมมติในสายตาของเราในฐานะผู้เล่น หากแต่ไม่ว่าจะเป็นนิยายยูโทเปียก็ดี หรือตัวเกม Metaphor Re:Fantazio เองก็ดี ต่างก็ทำหน้าที่เหมือน ๆ กันอย่างหนึ่งนั่นคือการพยายามสร้างแรงบันดาลใจที่จะทำให้ผู้อ่านและผู้เล่นร่วมกันทำให้โลกดีขึ้น ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น โดยก้าวไปข้างหน้าต่อไปแล้วศึกษาอดีตที่ผ่านมาครับ

เหมือนคำกล่าวส่งท้ายเกมที่ว่า “ข้าหวังว่าจินตนาการในครั้งนี้จะมอบพลังให้แก่ท่านอย่างสุดหัวใจ” นั่นล่ะครับ


ยูโทเปีย นิยายที่ว่าด้วยสังคมในอุดมคติของ Thomas More

หากจะกล่าวถึงแรงบันดาลใจอีกประการหนึ่งแล้ว เซ็ตติ้งของเกมนี้ที่ว่าด้วยนิยายยูโทเปียที่เขียนโดยมอร์นั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นการอ้างอิงมาจากนิยายชื่อเดียวกันในโลกของเรานั่นคือ Utopia ที่เขียนโดย Thomas More (โธมัส มอร์) ในปีค.ศ.1516 นั่นเองครับ

คำว่ายูโทเปียนั้น มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกที่แปลว่า “no place” (ou topos) หรือก็คือไม่มีอยู่จริง ซึ่งมอร์ใช้อธิบายโลกอันสมบูรณ์แบบในอุดมคติ ซึ่งมีระบบการบริหารจัดการอย่างไร้ที่ติ ซึ่งเดิมทีนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเป็นภาษาละตินก่อนที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรปต่อมาในภายหลัง เช่นภาษาเยอรมัน, อิตาลีและฝรั่งเศส ในปีค.ศ.1550 และภาษาอังกฤษในปีค.ศ.1551

เนื้อหาในนิยายยูโทเปียของโธมัส มอร์นั้นจะบอกเล่าเกี่ยวกับเกาะแห่งหนึ่งในโลกใหม่ ที่บรรยายเอาไว้ว่ามีกระแสน้ำอันตรายล้อมรอบเกาะ จึงป้องกันตนเองจากผู้รุกรานภายนอกได้เป็นอย่างดี หากว่าใครที่ไม่รู้จักกระแสน้ำดีพอก็มีโอกาสที่เรือจะอับปางลงได้ง่าย

ภาพวาดเกาะยูโทเปียที่ปรากฏในนิยายฉบับตีพิมพ์ปี 1516

คุณลักษณะและคำบรรยายทั้งหลายทั้งปวงของเกาะยูโทเปียนั้น ในนิยายจะเขียนเสมือนเป็นบันทึกที่มอร์จดบันทึกจากคำบอกเล่าของนักเดินทางชาวโปรตุเกสที่ชื่อว่า Raphael Hythloday (ราฟาเอล ฮิธโลเดย์)  แทน ซึ่งชื่อของฮิธโลเดย์นั้นก็มีรากมาจากคำศัพท์ละตินนั่นคือ hythlodaeus (ผู้แจกจ่ายสิ่งเพ้อเจ้อ) โดยที่มอร์เขียนในนิยายว่าเขาได้พบกับฮิธโลเดย์ในแอนต์เวิร์ป พร้อมกับบอกคุณลักษณะของเกาะแห่งนั้นเอาไว้โดยละเอียด

ผู้คนต่างทำงานตรงตามความสามารถของตนเอง และบริโภคทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และรัฐแห่งนั้นไม่มีแนวคิดเรื่องทรัพย์สินเอกชน อีกทั้งยังให้การศึกษาแก่ชายและหญิงเท่าเทียมกันโดยไม่เรียกค่าตอบแทนใด ๆ รัฐดังกล่าวมีความสงบสันติอย่างสมบูรณ์แบบ แม้กระทั่งการลงโทษทัณฑ์ก็ไม่มี หากจะมีก็เพียงการจองจำผู้ที่เป็นอาชญากรหรือเชลยศึกจากสงครามให้เป็นทาสรับใช้ ไม่มีแม้กระทั่งความยากจนและความต้องการใด กฎเกณฑ์ก็แทบไม่จำเป็นเพราะทุกคนล้วนมีจริยธรรมสูงส่งและสามารถควบคุมตนเองได้

ด้วยเหตุนี้เองงานเขียนชิ้นนี้ของโธมัส มอร์จึงมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นงานที่ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนแนวคิดการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำไปครับ นอกจากนั้นแล้วผลงานชิ้นนี้ยังส่งอิทธิพลในภายหลังอย่างกว้างขวาง มีการนำไปอ่านและตีความกันมากมาย รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบราชาธิปไตยในยุโรปของยุคสมัยนั้น

ถึงกระนั้นก็ดี ปัจจุบันนี้หลายคนก็เห็นตรงกันว่าสังคมในอุดมคติตามแบบงานเขียนของโธมัส มอร์ก็ไม่ใช่สังคมสมบูรณ์แบบครับ หากแต่ว่าเขาเขียนงานชิ้นนี้โดยวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมในยุโรปของยุคสมัยนั้น ๆ โดยมุ่งเน้นประเด็นไปที่ความยุติธรรม, ความมั่งคั่ง รวมถึงการปกครองเพื่อหวังที่จะให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่นั่นเอง (แค่การมีทาสมันก็ขัดกับความเท่าเทียมที่พูดถึงแล้วล่ะนะ)

ภาพของโธมัส มอร์จากฝีมือของศิลปินชื่อฮานส์ ฮอลเบนในปีค.ศ.1527

ทั้งนี้ ชีวิตส่วนตัวของโธมัส มอร์นั้น เขาถูกจองจำในช่วงบั้นปลายชีวิตโดย King Henry VIII (กษัตริย์เฮนรี่ที่แปด) อันเนื่องมาจากว่าตัวของมอร์นั้นเป็นศาสนิกที่นับถือนิกายคาทอลิก และต่อต้าน Protestant Reformation (การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์) จึงทำให้เขาวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์เฮนรี่ที่แปดที่ละทิ้งคาทอลิกและหย่าร้างกับ Catherine of Aragon (แคเธอรีนแห่งอารากอน) ผู้เป็นพระมเหสีองค์แรก ไม่เพียงแค่นั้น แต่เขายังไม่ยอมรับอำนาจของกษัตริย์ที่มีเหนือศาสนจักรด้วย จึงทำให้ถูกประหารในที่สุด


จากรายละเอียดทั้งหมดนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านิยายยูโทเปียของมอร์ในเกม Metaphor Re:Fantazio นั้น มีการอ้างอิงมาจากนิยายยูโทเปียของโธมัส มอร์ในโลกของเรานั่นเอง แม้กระทั่งรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ที่รายล้อมและผลกระทบที่มีต่อผู้อ่านนั้นก็ใกล้เคียงกัน แม้ว่าตัวนิยายมันจะไม่ใช่หนังสือคู่มืออะไรใด ๆ ก็ตามแต่มันก็อาจช่วยเปิดโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้พบกับเส้นทางของตนเองต่อไปครับ

อ่านรีวิวเกม Metaphor Re:Fantazio จากเราได้ที่นี่: https://thaigamewiki.com/2024/10/11/metaphor-refantazio-review/

ที่มาของข้อมูล:

https://www.britannica.com/topic/Utopia-by-More

https://www.gutenberg.org/ebooks/2130

https://archive.org/stream/lifewritingsofsi00brid/lifewritingsofsi00brid_djvu.txt

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์