*ขอขอบคุณ SEGA Corporation สำหรับโค้ดรีวิวมา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5
สำหรับ Persona 3 Reload นี้ คือภาครีเมกของ Persona 3 เวอร์ชันต้นฉบับที่เคยวางจำหน่ายในปี 2006 ไปบน PlayStation 2 ครับ อย่างไรก็ตามการรีเมกรอบนี้จะขาดคอนเทนต์ส่วนเสริมที่ลงอยู่ในภาค Persona 3 Fes หรือ Persona 3 Portable ไป และหลังจากที่จบรอบแรกไปโดยใช้เวลาราว 93 ชั่วโมงนั้น เชิญมาอ่านความรู้สึกจากผู้ที่เล่นมาแต่เพียงเวอร์ชันต้นฉบับได้เลยครับ
เนื้อเรื่อง
สำหรับ Persona 3 Reload นั้น เราจะได้รับบทเป็นเด็กนักเรียนชายม.ปลายปี 2 (ม.5) ที่ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายเก็กโคคัน (Gekkoukan) ประจำเมืองอิวะโตได (Iwatodai) หากแต่ว่าไม่นานหลังจากที่เขาได้มาใช้ชีวิตที่หอพักใกล้โรงเรียนก็ได้เข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ประหลาด นำไปสู่การเข้าร่วมทีม SEES เพื่อกำจัดตัวตนลึกลับที่อันตรายซึ่งเรียกว่าชาโดว์ด้วยพลังที่เรียกว่าเพอร์โซนานั่นเอง
ในแง่ของเนื้อหานั้น Persona 3 Reload จะเดินเรื่องและมีเนื้อหาโดยรวมที่ตรงตามต้นฉบับ และไม่มีการบิดการเสริมอะไรเข้ามามากนัก ถึงมีก็จะเป็นเรื่องราวที่ทำให้รู้จักตัวละครแต่ละตัวมากขึ้นมากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนเส้นเรื่องไปเลยครับ แก่นของ Persona 3 Reload นี้นอกจากการไล่ปราบชาโดว์และแก้ไขวิกฤติการณ์ที่จะมาซึ่งหายนะโลกในตอนท้ายแล้ว ตัวเกมจะสอดแทรกเรื่องราวว่าด้วยความรัก ความผูกพัน การจากลา และการค้นหาความหมายของชีวิตเข้ามาโดยตลอด ดังนั้นหากคุณเคยประทับใจกับเกมภาคต้นฉบับมาอย่างไร ภาค Reload ก็จะทำให้คุณประทับใจอีกครั้ง ส่วนใครที่ยังไม่เคยรับรู้เรื่องราวของ Persona 3 มาก่อนเลยนั้น ฉากจบอาจจะทำให้คุณซึ้งจนหลั่งน้ำตาครับ
สิ่งที่ทำให้ Persona 3 เด่นในแง่เนื้อหาก็คงเป็นบุคลิกลักษณะนิสัยของแต่ละตัวละครที่โลดแล่นในเกมนี่เอง แม้ว่าตัวเกมจะเป็นเรื่องราวของกลุ่มเด็กม.ปลายพลังพิเศษที่ต้องเข้าต่อกรกับสิ่งที่พลังอำนาจล้นเหลือแล้ว แต่ละคนต่างก็มีปัญหาชีวิตและสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอและก้าวข้ามไปให้ได้ ซึ่งจุดนี้นี่ล่ะที่ผมคิดว่าแม้คุณจะเลยวัยม.ปลายมาไกลมากแล้ว คุณจะยังรู้สึกอินและเอาใจช่วยตัวละครได้ง่าย เพราะหลายอย่างก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยหรือผ่านหูผ่านตากันมาทั้งนั้นครับ แต่ถ้าใครที่ยังอยู่ในวัยเดียวกันกับกลุ่มตัวเอกในเรื่องก็น่าจะยิ่งอินมากกว่ากันหลายเท่าเลย
เกมเพลย์
สำหรับเกมเพลย์ของ Persona 3 Reload นั้นจะแบ่งหลัก ๆ ออกเป็นสองส่วนด้วยกันครับ นั่นคือส่วนที่เป็นการตะลุยดันเจี้ยนด้วยระบบเทิร์นเบสอาร์พีจี กับส่วนที่เป็นการใช้ชีวิตประจำวันสไตล์เด็กม.ปลายครับ โดยที่คุณจะมีเวลาใช้ชีวิตในฐานะเด็กม.5 หนึ่งปี ซึ่งในระหว่างหนึ่งปีนี้ จะมีวันที่เกมบังคับให้คุณต้องเล่นอีเวนต์เพื่อสู้บอสตามเนื้อเรื่อง แต่ว่าก่อนที่จะถึงวันดังกล่าว คุณสามารถเลือกได้อิสระว่าจะทำอะไร เน้นผูกสัมพันธ์กับผู้คนในอิวะโตได หรือจะไปลุยหอคอยทาร์ทารัส (Tartarus) เพื่อเก็บเลเวลและเสริมความแข็งแกร่งให้กับตัวเองและพวกพ้องก็ได้
ตะลุยดันเจี้ยน
ใน Persona 3 Reload นี้ จะมีเซ็ตติ้งอยู่ว่าเมื่อเวลาเดินเข้าสู่ช่วงเที่ยงคืนในแต่ละวันนั้น ช่วงเปลี่ยนผ่านวันจะมีเวลาที่เรียกว่าชั่วโมงแห่งความมืดหรือ Dark Hour เกิดขึ้น ภายใต้ช่วงเวลานี้ คนปกติทั่วไปจะไม่ได้รับรู้เหตุการณ์และแปรสภาพไปเป็นโลงศพกันหมด เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาพิเศษก็จะใช้การไม่ได้ มีเพียงคนจำนวนน้อยนิดที่รู้สึกตัวและยังคงสภาพร่างกายมนุษย์ใน Dark Hour ไว้ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นบรรดาผู้ใช้เพอร์โซน่าอย่างตัวเอกและผู้เกี่ยวข้องนั่นเอง
หนึ่งในพล็อตหลักของเกมนี้ก็คือการพยายามไขปริศนาว่าเหตุใดในช่วง Dark Hour ของแต่ละวันนั้นโรงเรียนเก็กโคคันถึงได้แปรสภาพไปกลายเป็นหอคอยทาร์ทารัสที่สูงเสียดฟ้า และหน้าที่ของกลุ่มตัวเอกก็คือการพยายามวิ่งไต่หอคอยเพื่อหาคำตอบว่าจุดสิ้นสุดของหอคอยนี้อยู่ตรงไหน และมันมีวัตถุประสงค์อะไรนั่นเอง ซึ่งเกมก็ยังใจดีว่าไม่ให้คุณต้องมาวิ่งขาลากตั้งแต่ชั้นแรกขึ้นไปทุกรอบ เพราะในชั้นที่กำหนดจะมีเครื่องวาร์ปให้กลับมายังชั้นแรกสุดที่เป็นจุดรวมพลได้ตลอดเวลา เพื่อให้คุณสามารถสลับเพื่อนในทีมที่ค่า SP หมดแล้วเปลี่ยนคนอื่นมาเพื่อทำการสำรวจต่อไปได้ทันที
องค์ประกอบสำคัญหนึ่งของเกมก็คือการผสมเพอร์โซน่าของตัวเอกครับ ในขณะที่เพื่อน ๆ แต่ละคนนั้นจะมีเพอร์โซน่ากันคนละหนึ่งตัว (ไม่รวมร่างอัปเกรด) แต่สำหรับตัวเอกนั้นจะเปลี่ยนเพอร์โซน่าในระหว่างสู้เพื่อปิดจุดอ่อนหรือไม่ก็สลับหาท่าโจมตีที่จะเกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุดตลอดเวลา และการที่คุณจะได้เพอร์โซน่าใหม่มาใช้งานนั้น บางครั้งคุณอาจได้รับมาหลังจบการต่อสู้ แต่ว่าตัวเก่ง ๆ เทพ ๆ ทั้งหลายนั้นจะได้มาจากการนำเอาเพอร์โซน่าที่คุณมีมาผสมกันให้กลายเป็นตัวใหม่ ณ เวลเว็ตรูม (Velvet Room) ที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้คุณปั้นบิลด์ได้หลากหลายเพราะเพอร์โซน่าใหม่จะสามารถโอนสกิลมาจากตัวตั้งต้นได้นั่นเอง
รูปแบบการต่อสู้ของเกมนั้นเป็นแบบเทิร์นเบสอาร์พีจีแท้ ๆ ครับ ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายศัตรูจะต้องรอคิวถึงเทิร์นของตนจึงจะสามารถเลือกได้ว่าเราจะทำอะไร ซึ่งเกมก็จะมีระบบการแพ้ธาตุหรือแพ้การโจมตีอยู่ หากว่าคุณโจมตีโดนจุดอ่อนของศัตรู มันจะทำให้ศัตรูลมและคุณออกแอ็กชันเพิ่มได้อีกหนึ่งเทิร์น โดยที่ตัวละครนั้นจะตีต่อเลย หรือจะโอนเทิร์นไปให้คนอื่นในทีมที่มีท่าหรือเวทโจมตีตรงธาตุมากกว่าก็ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ศัตรูล้มจนหมด ก็เปิดโอกาสให้คุณใช้การโจมตีแบบ All-Out ที่อาจจะรุนแรงมากจนกวาดศัตรูทั้งหมดได้ในทีเดียว หรือไม่ก็สร้างแดเมจได้รุนแรง เพียงแต่ว่ารอบแรกที่เจอกับศัตรูใหม่ก็ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกกันระดับหนึ่งเหมือนกัน
โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าระบบการเล่นของ Persona 3 Reload นั้นก็เป็นอะไรที่คล้ายของเดิม และใครที่มาเล่นภาคหลัง ๆ อย่างเช่น Persona 5/Persona 5 Royal ก็จะทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ชนิดที่จับปุ๊บเล่นเป็นปั๊บ อย่างไรก็ดีหากจะมีสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาชัดเจนจากต้นฉบับก็คือเกจเธเออร์จี (Theurgy) ที่เรียกเข้าใจง่าย ๆ ว่ามันคือท่าไม้ตายนั่นล่ะครับ สำหรับใครที่เคยเล่นภาคต้นฉบับมาก็อาจจะคุ้น ๆ กับหลายท่า เพราะว่าเดิมทีต้นฉบับจะเปิดโอกาสให้เราสามารถใช้เวทคู่ได้หากว่าเรามีเพอร์โซน่าตรงคู่ตามที่เกมกำหนด ของเดิมจะใช้แค่ค่า SP แต่ในคราวนี้เกมโยกมาใช้เป็นระบบท่าไม้ตายแทน ดังนั้นท่าอะไรที่เคย OP มากเหลือเกินในต้นฉบับก็จะไม่สามารถสแปมได้แล้วในเวอร์ชันนี้ นัยว่าเป็นการปรับสมดุลเกมครับ
ในทางกลับกัน ระบบเธเออร์จีนี้มันก็เปิดโอกาสให้เพื่อน ๆ แต่ละคนในทีมนั้นมีความแข็งแกร่งกันมากขึ้น สามารถเสริมทีมได้เยอะขึ้นทั้งการโจมตีและการสนับสนุน เพราะแต่ละคนต่างก็มีเกจเธอเออร์จีเป็นของตัวเองแล้วเหมือนกัน ดังนั้นการใช้เกจได้ถูกที่ถูกเวลาก็อาจทำให้คุณพลิกมาชนะได้อย่างง่ายดายครับ
โดยรวมแล้วในแง่ของเกมเพลย์สไตล์อาร์พีจีนี้ ผมคิดว่า Persona 3 Reload อาจไม่ได้เพิ่มเติมอะไรใหม่ ๆ เข้ามาจากต้นฉบับชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ว่ามันคือรสชาติที่หลายคนคุ้นเคยและยังคงสนุกไม่เปลี่ยนครับ
ชีวิตประจำวัน
หลังเลิกเรียนในแต่ละวัน เกมจะเปิดโอกาสให้คุณเลือกใช้เวลาได้อิสระ (เว้นช่วงที่เนื้อเรื่องบังคับ) ในตอนเย็นว่าจะทำอะไร ในบรรดาพื้นที่ของโรงเรียน ของห้องแถวร้านค้า ของมอลล์ใหญ่ ของศาลเจ้า หรือการกลับมาที่ห้องพักของคุณเอง จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้เลือกทำเสมอ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วเมื่อคุณทำการเลือกกิจกรรมเสร็จ ช่วงเวลาของเกมก็จะผ่านพ้นช่วงเย็นไป แล้วเข้าสู่ช่วงหัวค่ำที่กิจกรรมจะน้อยลงแต่คุณเลือกคุยกับเพื่อน ๆ ในหอพักได้ว่าจะอยากไปลุยทาร์ทารัสเพื่อเก็บเลเวลไหม
กิจกรรมที่มีให้ในเกมนั้นก็หลากหลายครับ คุณอาจไปห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้ ไปนั่งเล่นเกมอาร์เขดเพื่อเพิ่มค่าพลังของเพอร์โซน่า ไปร้องคาราโอเกะเพิ่มพูนความกล้า ไปสวดภาวนาที่ศาลเจ้าขอให้ตัวเองฉลาดขึ้น (ได้เหรอ?) แต่เหนือสิ่งอื่นใด และเป็นสิ่งที่เกมกระตุ้นให้คุณใช้เวลาไปด้วยก็คือการเพิ่มความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ ของเกมที่เรียกว่าโซเชียลลิงก์ (Social Link) ครับ
บทบาทของโซเชียลลิงก์ในเกมนี้จะไปผูกกับการผสมเพอร์โซน่าโดยตรง นั่นเพราะว่าเพอร์โซน่าแต่ละตัวในเกมจะมีหมวด Arcana ของตนเองตามสัญลักษณ์ของไพ่ Tarot ชุดใหญ่ และบรรดาผู้คนในโซเชียลลิงก์ที่เราได้เจอในเกมก็จะได้รับการแทนตัวด้วย Arcana ที่ว่านี่ล่ะครับ นั่นจึงแปลว่ายิ่งคุณสร้างความสัมพันธ์กับใครมากขึ้น เวลาผสมเพอร์โซน่าของ Arcana นั้น ๆ ก็จะได้รับ EXP มากขึ้น และเมื่อความสัมพันธ์ขึ้นสูงสุดก็จะทำให้คุณผสมสุดยอดเพอร์โซน่าของหมวดนั้น ๆ ได้ ดังนั้นหากว่าใครที่สังคมไม่ยุ่งมุ่งแต่ลงดันเจี้ยนจะไม่มีทางแข็งแกร่งขึ้นได้ตามต้องการเลย เพราะเกมนี้เน้นเรื่องความแข็งแกร่งจากความสัมพันธ์กับผู้คนนั่นเอง
สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจากต้นฉบับก็หนีไม่พ้นลิงก์เอพิโซด (Linked Episodes) ครับ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเรื่องราวที่ให้คุณได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ในหอของคุณ และผลที่ตามมาก็คือเพื่อนของคุณจะได้ความสามารถแพสซีฟที่มีประโยชน์ในการต่อสู้มากขึ้นตามไป และประโยชน์อื่น ๆ เช่นเพิ่มค่าสถานะทางสังคม (Social Stats) หรือได้ไอเท็มอะไรมาใช้ก็ว่าไป
ผมคิดว่าระบบต่าง ๆ ของเกมนี้ออกแบบมาเกื้อหนุนกันดีครับ นั่นเพราะนอกเหนือไปจากค่าพลังในการต่อสู้แล้ว ค่าที่จะเกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันก็คือค่าสถานะทางสังคมของคุณเอง นั่นเพราะคุณต้องเพิ่มค่าความฉลาดหากต้องการสอบให้ได้อันดับสูง ๆ หรือเพิ่มค่าความเท่หากต้องการเริ่มต้นโซเชียลลิงก์กับใครบางคน หรือไม่ก็เพิ่มค่าความกล้าให้คุณสามารถเข้าไปยังสถานที่บางจุดได้เพื่อเคลียร์เควสต์
ในช่วงแรกนั้นคุณอาจไม่ค่อยมีปัญหากับการบริหารจัดการเวลาในแต่ละวันมากนัก แต่เมื่อเล่นไป ด้วยจำนวนโซเชียลลิงก์เพิ่มขึ้น จำนวนลิงก์เอพิโซดที่มากขึ้น เควสต์จากเวลเว็ตรูมที่เยอะขึ้น รวมถึงการต้องบริหารชีวิตในฐานะนักเรียนนั้น มันจะทำให้คุณหัวหมุนได้ไม่แพ้กับการวิ่งฝ่าขึ้นหอคอยทาร์ทารัสครับ
ความรู้สึกต่อเกมเพลย์โดยรวม
หากจะพูดในเชิงเกมเพลย์แล้ว Persona 3 Reload ยังคงทำออกมาได้สนุก มีหลายรสชาติและกลมกล่อมระหว่างการเล่นเทิร์นเบสอาร์พีจีกับการจำลองชีวิตเด็กม.ปลายในหนึ่งปี เพียงแต่ว่าสถานที่ที่คุณจะไปมาได้ในเกมนั้นค่อนข้างจำกัด นั่นเพราะเดิมทีเกมต้นฉบับก็ไม่ได้เปิดโอกาสหรือเปิดสถานที่ให้ตัวเราไปไหนมาไหนได้เยอะมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอาจไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าต่างจากเดิมไปแบบก้าวกระโดด แต่สิ่งที่ผมชอบก็คือบรรดาการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านการต่อสู้หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นพอตัวละครของเราล้มแล้ว หากว่าลุกในเทิร์นของตัวเองก็จะแอ็กชันต่อได้เลยจากเดิมที่ต้องรอเทิร์นถัดไป รวมถึงการที่เราสามารถบังคับเพื่อนในทีมได้แล้วโดยตรงจากเดิมที่ได้แค่เพียงออกคำสั่งในภาพรวมแล้วก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรม หรือการฟาสต์ทราเวลไปหาโซเชียลลิงก์ได้เลยจากเมนูโทรศัพท์ เป็นต้นครับ
กราฟิก
หากจะพูดในเชิงของกราฟิกแล้ว ผมคิดว่าเกมนี้มีคุณภาพกราฟิกที่ใกล้เคียงกับภาคก่อนหน้าอย่าง Persona 5/Persona 5 Royal ครับ แม้ว่าเดิมตัวโมเดลจะปั้นออกมาในสไตล์การ์ตูนอยู่แล้ว แต่ว่าในรอบนี้ของ Persona 3 Reload นั้นทุกคนโดนปรับหน้าปรับตาให้มีรูปร่างสมส่วนในแบบคนจริง ๆ มากขึ้นแทนที่จะดูเหมือนกึ่ง SD ตามต้นฉบับ
โมเดลตัวละครแต่ละคนก็ทำออกมาได้เหมือนกับภาพวาดประกอบเกมที่มีการวาดใหม่ครับ เรียกได้ว่าเน้นย้ำกันไปเลยว่าหอพักนักเรียนอิวะโตไดนี่ไม่ได้คัดคนเข้าพักที่ผลการเรียนหรือความสามารถ แต่คัดที่หน้าตา…เอาล่ะ ในส่วนของเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ในตอนสู้นั้นก็ทำออกมาได้ฉูดฉาดยอดเยี่ยมและรุนแรงอยู่ครับ พวกท่าที่ซัดหนึ่งทีแล้วลด 9999 นี่มันก็ดูแล้วชวนให้เชื่อได้ว่าแรงจริง ๆ ไม่ว่าเราจะใช้ใส่ศัตรูหรือโดนเองก็ตามเถอะ…
เสียงเพลงประกอบ
หัวข้อนี้เต็ม 10 ก็ให้ 10 ครับ ผมคิดว่าใครที่เคยเล่น Persona 3 ต้นฉบับมาก็น่าจะมีสิ่งที่จดจำได้มากที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือเพลงประกอบเกมนี่ล่ะ และนับแต่นั้นมาไม่ว่าจะภาคไหนต่อภาคไหน แฟรนไชส์ Persona ก็ขึ้นชื่อเรื่องเพลงประกอบที่ฟังแล้วเท่ เจ๋ง ไพเราะ บางเพลงก็ชวนเคลิบเคลิ้ม พอมาใน Persona 3 Reload นี้ก็ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเพลงสู้ที่ปะทะกับศัตรูซึ่งหน้า หรือเพลงสู้เมื่อเราลอบโจมตีสำเร็จ หรือเพลงประกอบฉากเวลาไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ทุกเพลงล้วนแล้วแต่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมทุกเพลงครับ
หากเป็นเพลงสู้มันก็ชวนให้คุณโยกหัวโยกตัวตามเพลง พอเป็นเพลงชีวิตประจำวันก็ฟังสบายชวนให้เอกเขนกนั่งเล่นเพลิน ๆ
สรุป
Persona 3 Reload นี้เป็นการรีเมกที่เก็บเอาหัวใจสำคัญ ๆ ของภาคต้นฉบับมาไว้ได้ครบถ้วน และเสริมด้วยองค์ประกอบอำนวยความสะดวกของเกมในปัจจุบันลงไป แม้ว่าจะไม่ได้มีการพัฒนาก้าวกระโดด แต่มันยังคงทรงคุณค่าที่แฟนเก่าควรหามาเล่น และใครที่ไม่เคยเล่นก็อยากลองให้ได้สัมผัสกับภาคที่ทำให้แฟรนไชส์นี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างครับ