Games Reviews

Like a Dragon Infinite Wealth – รีวิว [REVIEW]

โดย G-jang

Like a Dragon Infinite Wealth – รีวิว [REVIEW]

*ขอขอบคุณโค้ดรีวิวจาก SEGA Corporation มา ณ โอกาสนี้ครับ
**รีวิวนี้เล่นบน PlayStation 5

Like a Dragon: Infinite Wealth นี้คือภาคล่าสุดของแฟรนไชส์เกมจาก SEGA ที่ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของบุคคลในสังคมมืดของญี่ปุ่น ซึ่งฝั่งญี่ปุ่นจะใช้ชื่อว่า Ryu Ga Gotoku ส่วนฝั่งตะวันตกก็เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อตัวเองจากเดิมที่ใช้ว่า Yakuza มาเป็น Like a Dragon เมื่อไม่กี่ภาคที่ผ่านมานี้เอง

สำหรับภาคนี้ก็ถือเป็นภาคที่สองแล้วที่มีระบบการเล่นเป็นเกม RPG ในสไตล์เทิร์นเบส ตามแนวทางเดียวกับภาคหลักก่อนหน้าในชื่อ Yakuza: Like a Dragon ที่เปลี่ยนตัวเอกจากคิริว คาซึมะมาเป็นคาสึกะ อิจิบังเป็นครั้งแรกนั่นเอง แล้วภาคนี้จะเป็นอย่างไร ผมจะมาบอกเล่าประสบการณ์หลังเล่นจบโดยใช้เวลาไปร่วม 120 ชั่วโมงให้ทราบกันครับ


เนื้อเรื่อง

สำหรับ Like a Dragon: Infinite Wealth นี้ดำเนินเรื่องราวต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ในตอนจบของภาคก่อน โดยในปีค.ศ.2023 นั้น คาสึกะ อิจิบังได้ทำงานเป็นพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานจัดหางาน โดยที่เขามีเป้าหมายในการช่วยเหลือให้อดีตยากูซ่ามีงานสุจริตทำและกลับคืนสู่สังคมได้ ภายหลังจากที่แก๊งยากูซ่าสองแก๊งใหญ่อย่างสหพันธ์โอมิจากฝั่งคันไซ และสมาพันธ์โทโจแห่งฝั่งคันโตต่างตัดสินใจร่วมกันที่จะยุบกลุ่มอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ยากูซ่าหลายคนเคว้งคว้างไม่มีที่ไป อิจิบังจึงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือทุกคนอย่างสุดกำลัง

แต่ว่าชะตาก็กลับเล่นตลก เมื่อวันหนึ่งเขาโดนใส่ร้ายว่าลักลอบมอบหมายงานผิดกฎหมายให้กับอดีตยากูซ่าจนสุดท้ายต้องโดนออกจากงาน พร้อมกับที่เหตุการณ์ก็พลิกผันให้เขาได้เจอกับคนรู้จักเก่าจนต้องไปตามหาแม่ของตนเองที่ใครต่อใครก็นึกว่าเสียชีวิตไปแล้ว ณ เกาะฮาวาย

ตลุยฮาวายไปกับอดีตยากูซ่า

เอาล่ะ ก่อนที่ผมจะให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของเกมในภาพรวม ผมขอบอกความรู้สึกที่มีต่อตัวละครหลักสองคนในภาคนี้ก่อนครับ


คาสึกะ อิจิบัง

สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าอิจิบังนี่เป็นตัวละครที่ซื่อมาก ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทันคนแต่เขาเป็นคนที่จิตใจดีและซื่อตรง คาแรคเตอร์ของอิจิบังนั้นปูมาตั้งแต่ภาคก่อนหน้าว่าเป็นคนที่พร้อมจะให้อภัยคนอื่นเสมอ ไม่ว่าจะโดนเอาเปรียบหักหลังอย่างไรก็ตาม และในภาคนี้ก็จะมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติในแง่นี้ของอิจิบังเรื่อย ๆ ตลอดทั้งเกมครับ หากจะมีจุดที่ผมชอบในแง่นี้เกี่ยวกับอิจิบังก็คือ เขาคิดว่าคนทุกคนควรได้รับโอกาสในการปรับปรุงตัว แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่าหากคุณทำอะไรผิดไปก็จงยืดหน้ายอมรับผลที่ตามมา แล้วก็เริ่มต้นใหม่

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่แปลกใจนะถ้าหากว่าจะมีใครเล่นแล้วแอบหงุดหงิดรำคาญใจกับแนวคิดและการแสดงออกของอิจิบัง เพราะในบางครั้งสิ่งที่ตัวละครบางตัวทำลงไปมันก็ดูไม่น่าให้อภัยมาก ๆ ด้วยซ้ำ แต่ก็อีกนั่นล่ะ ผมคิดว่านี่เป็นจุดที่สร้างความโดดเด่นให้กับตัวละครใหม่ที่จะรับหน้าที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับแฟรนไชส์นี้ต่อไป อิจิบังอาจไม่ใช่คนที่เก่งกาจระดับยอดมนุษย์ที่ยืนเดี่ยวบวกกับคนเป็นร้อยได้ลำพังโดยไม่บาดเจ็บ แต่อิจิบังเป็นคนที่มีเสน่ห์และดึงดูดให้ใครต่อใครอยากเข้าหาได้ไม่ยากเย็น และจุดนี้ก็สัมพันธ์กับระบบการเล่นแบบ RPG เทิร์นเบสที่ต้องมีเพื่อนในปาร์ตี้เพื่อช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันนี่ล่ะครับ


คิริว คาซึมะ

ตัวเอกผู้เป็นหน้าเป็นตาให้กับแฟรนไชส์นี้มาตั้งแต่ภาคแรก ก่อนที่เขาจะโผล่มาแจมในลักษณะเหมือนเป็นอาจารย์ผู้สอนสั่งอิจิบังในทางที่ถูกที่ควรใน Yakuza: Like a Dragon ซึ่งคิริวนั้นมีภาพลักษณ์ที่หลายคนรับรู้ตรงกันว่าเป็นคนที่แข็งแกร่ง ระดับที่ว่าหาใครมายืนแลกหมัดกันก็อย่าหวังว่าจะชนะ (เต็มที่ก็แค่เสมอ) และไม่ใช่แค่สู้กับคนด้วยกัน แต่สัตว์ป่าหลายต่อหลายตัวจะเสือเอย วัวกระทิงเอย ฉลามเอยต่างก็โดนคิริวซัดคว่ำมานักต่อนักแล้ว อีกทั้งเป็นคนที่ตรงไปตรงมา คอยช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ข่มเหงใคร ไม่ทำร้ายใครก่อนถ้าไม่โดนหาเรื่อง เงียบขรึมจริงจัง แต่ก็มีโมเมนต์ขำขันบ้างในบางโอกาส เขาเป็นคนที่แบกอะไรไว้ด้วยตัวคนเดียวไม่ยอมขอความช่วยเหลือใคร พูดง่าย ๆ คือโคตรจะแมน

แล้วใน Like a Dragon: Infinite Wealth นี้เขาก็กลับมาอีกครั้งเป็นหนึ่งในตัวละครที่เล่นได้ พร้อมกับหย่อนระเบิดลูกใหญ่ลงมาในเนื้อเรื่องว่าเขาป่วยเป็นมะเร็ง และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน

ผมพอจะเข้าใจเหตุผลในเชิงเกมเพลย์ว่านี่เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้คิริวต้องมีเพื่อนร่วมทาง ต้องพึ่งพาคนอื่นบ้าง เพราะในขณะนี้ตัวเขาเองนั้นอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอที่สุดเท่าที่เคยมีมาแล้ว ไม่สามารถเดินหน้าท้าชนทุกคนได้เหมือนแต่ก่อน ซึ่งสิ่งนี้ก็ปรากฏให้เห็นในเนื้อเรื่องด้วยที่หลายครั้งคิริวเลือกที่จะไม่ปะทะแต่หลบเลี่ยงการเผชิญหน้าแทน ซึ่งในแง่หนึ่งผมคิดว่านี่ก็เป็นพัฒนาการด้านบุคลิกของคิริวที่ต่างจากเดิมค่อนข้างมาก บทสนทนากับคนอื่น ๆ ในทีมจะทำให้เราเห็นแง่มุมที่ผ่อนคลายของคิริวมากขึ้นกว่าเดิม

แต่จุดที่สำคัญที่สุดในส่วนของคิริวนั้น ผมคิดว่าคือเรื่องราวที่เรียกว่า Memoirs of the Dragon ครับ พูดง่าย ๆ ก็คือในช่วงบั้นปลายของชีวิตนี้ เกมเปิดโอกาสให้คิริวได้หวนระลึกถึงอดีตที่ผ่านมา รวมถึงได้ไปสำรวจชีวิตของผู้คนที่ตนเคยรู้จักในช่วงชีวิตที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ (ก็ตัวละครในภาคก่อน ๆ นั่นล่ะ) ว่าแต่ละคนใช้ชีวิตกันอย่างไร ผมต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าแอบเซอร์ไพรส์กับเนื้อหาจุดนี้มากเหมือนกัน เพราะบางตัวละครที่คิดว่ามีบทบาทแค่ในภาคนั้น ๆ เพราะไม่เคยถูกกล่าวถึงอีก ก็ถูกนำกลับมาปรากฏตัวกันแบบถ้วนหน้า ให้คิริวได้คลายปมหลาย ๆ อย่างในใจของตน

สำหรับผมเองในฐานะที่เล่นมาตั้งแต่ภาคแรก มันก็เป็นอะไรที่ทำให้อิ่มใจได้ไม่น้อยครับที่เราได้เห็นความเป็นไปของแต่ละคนรวมถึงได้เห็นด้วยว่าคิริวมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนรอบข้างรอบตัวมากแค่ไหน


เนื้อหาหลักของเกม

เรื่องราวของเกมในภาคนี้ ยังคงมีธีมหลักเกี่ยวกับสังคมมืดและองค์กรอาชญากรรมที่พัวพันกันทั้งในญี่ปุ่นและฮาวาย และก็แน่นอนว่าเรื่องราวยังเต็มไปด้วยความลับ ความซับซ้อน แผนสมคบคิด รวมถึงจุดหักมุมต่าง ๆ อีกเพียบตลอดทั้งเกม หลายช่วงหลายตอนนั้นทำออกมาได้สนุกชวนติดตาม ชนิดที่ว่าพอจบบทแล้วก็อยากเล่นต่อเลยเพราะอยากรู้ว่าเรื่องราวจะไปต่อในทิศทางไหน (แม้จะต้องแลกกับสุขภาพที่ทรุดโทรมก็ตาม)

สิ่งที่ผมชอบในแง่เนื้อหาก็คือมันมีความร่วมสมัยมากครับ ทั้งประเด็นเรื่องการปั่นกระแสหรือสร้างประเด็นบนโลกออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Vtuber) ทั้งประเด็นเรื่องการกำจัดกากนิวเคลียร์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่จริง ๆ ในปัจจุบัน แม้แต่ประเด็นข้อกฎหมายของจริงอย่าง five-year clause ที่จำกัดสิทธิของอดีตยากูซ่าอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาห้าปี ทุกอย่างถูกนำมาผูกโยงเข้าด้วยกันจนเป็นเรื่องราวในครั้งนี้ได้อย่างกลมกลืน

ตลอดทั้งเกมนั้นมีโมเมนต์ที่น่าจดจำเยอะมาก บางช่วงบางตอนนั้นหากว่าคุณไม่เคยเล่นภาคเก่า ๆ มาเลยและมาเริ่มต้นที่ภาคนี้หรือภาคก่อนหน้าอย่าง Yakuza: Like a Dragon มันก็จะทำให้คุณทึ่งในความดุดัน ในความเข้ม และความเท่ของฉากคัตซีน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ติดตามแฟรนไชส์นี้มายาวนานล่ะก็ ผมเชื่อว่าจะมีหลายครั้งเลยที่คุณเล่นไปแล้วจะต้องตบเข่าฉาดไปเมื่อได้เจอกับบรรดาตัวละครเก่า ๆ ที่ปรากฏตัวกลับมาอีกครั้ง และยังกลับมาในแบบที่สมศักดิ์ศรีกันทุกคนด้วย

อย่างไรก็ดี เนื้อหาในภาพรวมนั้นผมคิดว่ามันก็ยังมีจุดที่แอบตก ๆ หล่น ๆ อยู่บ้างในระดับหนึ่งครับ ถึงสุดท้ายแล้วผมคิดว่าเนื้อเรื่องได้รับการคลี่คลายไปในทิศทางที่น่าพอใจ แต่มันก็อดไม่ได้ที่จะสังเกตเห็นรายละเอียดปลีกย่อยในบางส่วนที่ขาดหายไปเหมือนกัน ตัวละครบางตัวนั้นโดนตัดบทเร็วเกินไปทั้งที่น่าจะนำไปขยายต่อได้ และพล็อตบางจุดก็แอบไม่สมเหตุสมผลถ้าเราหยิบเหตุการณ์มานั่งแยกส่วนดูกันทีละจุด โดยเฉพาะในช่วงท้ายเกมที่แอบรู้สึกเหมือนเนื้อหาค่อนข้างเร่งไปหน่อย ส่วนตัวผมคิดว่าถ้ามีแทรกอีกสักหนึ่งบทก็น่าจะเกลี่ยเนื้อหาได้ลงตัวกว่านี้

แต่เอาเป็นว่า สุดท้ายแล้วตัวเกมส่งสารที่ต้องการจะสื่อได้ครบถ้วนครับ ทั้งการให้อภัยผู้อื่นรวมถึงการเห็นคุณค่าของตนเองเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน


แมปใหม่ฮาวาย

เกมภาคนี้ถือเป็นการแหวกขนบอีกอย่างหนึ่งของแฟรนไชส์ เพราะเดิมทีเราจะได้ตระเวนไปทั่วเมืองในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่รอบนี้เราจะได้เดิน ได้วิ่งรวมถึงขึ้นรถเซกเวย์ตระเวนไปทั่วเมืองโฮโนลูลูในฮาวาย สภาพแวดล้อมรวมถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏในเกมก็เลยดูสดใหม่และแปลกตาครับ

ต้นไม้ใบหญ้าในเกม รวมถึงเครื่องแต่งกายของผู้คนนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองเขตร้อนแบบชัดเจน แต่ละคนจะใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะกันซะเป็นส่วนใหญ่ ต่างกับในอิเซซากิอิจินโจหรือคามุโร่โจในญี่ปุ่นที่ผู้คนจะสวมเสื้อกันสองสามชั้นเพราะอากาศหนาวเย็นมากกว่าในฮาวาย

ผมคิดว่าตัวเกมนำเสนอภาพลักษณ์ของฮาวายออกมาได้ค่อนข้างดีและตรงกับภาพจำและการรับรู้ทั่วไปของผู้คนครับ ชายหาดที่เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งนอนอาบแดดและลงเล่นน้ำกันละลานตา โรงแรมหรูที่มีสิ่งของอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ร้านค้าร้านอาหารที่เต็มไปด้วยของอร่อยประจำเมือง ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว แต่ในทางกลับกัน ย่านบันเทิงกลางคืนก็จะมีบรรยากาศความอันตรายและเสื่อมโทรมให้เห็น เป็นบรรยากาศสองขั้วที่ตัดกันเองในตัวและอยู่ร่วมกัน

ขนาดของเมืองโฮโนลูลูในเกมนี้นั้นก็กว้างใหญ่เอาเรื่องครับ แต่ละจุดแต่ละที่นั้นมีสิ่งน่าสนใจให้ไปสำรวจและพบเจอ บ้างก็เป็นมินิเกม บ้างก็เป็นจุดกิจกรรม บ้างก็เป็นพวกบอสประจำเมืองที่พอปราบได้ก็จะได้ของดีมาใช้งาน มันเลยกระตุ้นให้อยากวิ่งไปสำรวจทุกซอกทุกมุมว่าจะมีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง มีอะไรน่าสนใจที่จะได้ไปเจออีกบ้าง

สำหรับซับสตอรี่หรือไซด์เควสต์ขาประจำของซีรีส์ก็ยังมีให้พบเจอเต็มอิ่มทั่วฮาวายเหมือนเคย ซึ่งทีมงาน RGG นั้นก็เก่งในการเขียนบทและสร้างเรื่องราวให้ออกมาได้สนุกไม่แพ้ภาคก่อน ๆ ครับ หลายครั้งที่ซับสตอรี่นั้นตลกจนเผลอหัวเราะออกมาดัง ๆ แต่บางครั้งก็ซึ้งจับใจเหลือเกิน


เกมเพลย์

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่าระบบต่อสู้หลักของเกมนั้นเป็น RPG แบบเทิร์นเบสที่หลายคนก็น่าจะคุ้นเคยกันดีจากภาคก่อนหน้า

เพียงแต่ว่าสำหรับในภาคนี้ ทีมงานได้ต่อยอดระบบจากภาคเดิมแล้วพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เล่นสนุกกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม และมีความไหลลื่นยิ่งกว่าเดิม ที่สำคัญคือการเก็บค่า Personality ของอิจิบังหรือ Awakening ของคิริวจากการเคลียร์เป้าหมายสารพัดสารพันในเกมนั้นก็มีประโยชน์มาก เพราะยิ่งเก็บเลเวลสูงขึ้นเท่าไรตัวละครทั้งสองก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นในแบบของตนเอง

จุดที่เพิ่มเติมมาจากภาคก่อนหน้าก็คือในเทิร์นของตัวละครฝั่งเรา จะมีพื้นที่ซึ่งสามารถเดินไปมาได้ ซึ่งในจุดนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนเล่นได้ใช้กลยุทธ์มากขึ้น ทั้งการหามุมโจมตีศัตรูเพื่อให้สกิลเกิดประโยชน์สูงสุด การเลือกโจมตีศัตรูจากข้างหลังเพื่อทำแดเมจ หรือการเดินหาวัตถุในฉากมาใช้เป็นอาวุธโจมตีอะไรแบบนั้น

ตัวเกมภาคนี้ยังคงมีระบบแพ้ทางการโจมตีและแพ้ธาตุของศัตรูอยู่ ซึ่งในเกมนี้จะแบ่งการโจมตีเป็นสามแบบคือการทุบ, การฟันและการยิง ส่วนธาตุจะมีธาตุไฟ, ธาตุสายฟ้าและธาตุน้ำ ที่ก็แน่นอนว่าศัตรูแต่ละตัวจะมีจุดอ่อนที่ต่างกันไป จึงเป็นการเปิดให้ผู้เล่นได้ลองจัดปาร์ตี้ที่เหมาะกับวิธีการเล่นของตัวเอง จะเสริมความแข็งแกร่งด้านใดด้านหนึ่ง หรือจะเน้นปาร์ตี้ที่ครบเครื่องเพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ ไม่มีผิดไม่มีถูกครับทุกอย่างแล้วแต่คุณเลย

ในเกมนี้ยังคงมีระบบอาชีพในลักษณะเดียวกันกับภาคก่อน โดยที่แต่ละอาชีพก็จะมีสกิลที่ใช้ได้แตกต่างกันไป รวมถึงอาวุธที่ใช้ได้ก็ต่างกันไปด้วย ถึงกระนั้นเกมก็ให้อิสระแก่คุณในการปรับแต่งตัวละครครับ เพราะว่าเมื่อคุณเก็บเลเวลอาชีพเพื่อปลดสกิลใหม่ ๆ ได้แล้ว เมื่อคุณเปลี่ยนอาชีพใหม่ให้กับตัวละคร คุณจะเลือกได้ว่าตัวละครนั้นจะรับเอาสกิลไหนจากอาชีพอื่นมาใช้ โดยที่จำนวนสกิลที่ติดตั้งได้จะขึ้นอยู่กับค่า bond (ความสัมพันธ์) ของตัวละคร ที่สำคัญคือคุณสามารถติดตั้งหรือถอนสกิลได้แบบไม่มีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นคุณสามารถลองวิธีการเล่นหลายแบบได้เลย ไม่มีอะไรต้องกังวล

ระบบที่เกมภาคนี้เพิ่มเข้ามาก็คือเกจ Hype ครับ ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ มันก็คือเกจท่าไม้ตายที่แยกต่างหากจาก MP ปกตินั่นล่ะ พอเต็มปุ๊บหัวหน้าปาร์ตี้อย่างอิจิบังหรือคิริวจะใช้ท่าคู่กับสมาชิกทีมได้ทันที ซึ่งเอฟเฟกต์ก็แล้วแต่ว่าจับคู่กับใคร บ้างก็โจมตีหมู่ บ้างก็ฟื้นฟูพลังหมู่เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึงในแง่ของเกมเพลย์ก็คือ แม้ว่าเดิมทีเราจะได้เล่นคิริวในแบบแอ็กชันบู๊ระห่ำมาตลอด ในภาคนี้จะเป็นครั้งแรกที่คิริวจะสู้ในแบบเทิร์นเบส (ไม่นับตอนเป็นบอสในภาคก่อนนะ) แต่ถึงแบบนั้น ทีมงานก็ยังสามารถใส่เอกลักษณ์ลงมาให้กับคิริวได้ในแบบที่ใกล้เคียงกับภาคคลาสสิกครับ นั่นเพราะอาชีพเริ่มแรกของคิริวอย่าง Dragon of Dojima นั้นจะเปลี่ยนสไตล์การโจมตีได้สามแบบ โดยแต่ละแบบจะมีจุดเด่นต่างกันไป

สไตล์ Brawler นั้นจะทำให้คิริวใช้ Heat Action ได้ในแบบที่คุ้นเคย ส่วน Rush จะโจมตีได้สองครั้งในหนึ่งเทิร์น สุดท้ายคือ Beast ที่โจมตีได้หนักหน่วงที่สุดและทำลายการ์ดของศัตรู มันเลยทำให้คิริวเป็นตัวละครที่ครบเครื่องมากในด้านการโจมตี ยังไม่นับว่าเกมมีระบบอย่าง Dragon’s Resurgence ที่ใช้เกจ hype ของคิริวเพื่อเปลี่ยนเกมกลับมาเป็นแอ็กชันในช่วงสั้น ๆ ได้อีกนะ

หรือถ้าคุณอยากจบการต่อสู้ไว ๆ ก็เลือกใช้เงินแก้ปัญหาได้เหมือนภาคก่อน โดยการเรียก Poundmates ที่เปรียบเสมือนมนตร์อัญเชิญอสูรของเกมมาจัดการศัตรูไปเลยให้จบ ๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผมคิดว่าระบบการเล่นภาคนี้หาจุดกึ่งกลางระหว่างการเป็นเกมแอ็กชันและการเป็น RPG เทิร์นเบสได้ค่อนข้างลงตัวแล้วล่ะครับ


เนื้อหารอง Sujimon Battle

หนึ่งในไฮไลต์หลักของภาคนี้ก็คือเนื้อหารองอย่าง Sujimon Battle ที่ดูก็รู้ว่าตั้งใจล้อเลียนโปเกมอนนี่ล่ะครับ อันที่จริงจะเรียกว่ามันเป็นการขยี้มุกต่อเนื่องจากภาคที่แล้วของทีมงานก็คงไม่ผิดนัก จากที่เดิมทีในภาคก่อนระบบซึจิมอนทำหน้าที่เหมือนเป็นบันทึกให้คนเล่นทราบว่าศัตรูในเกมมีกี่ประเภทเท่านั้น แต่รอบนี้ทีมงานเลือกที่จะพัฒนาระบบการเล่นเฉพาะสำหรับส่วนนี้ขึ้นมาเลย แถมมีเนื้อเรื่องในส่วนของตัวเองแยกจากเนื้อเรื่องหลักด้วยนะ

หากว่าคุณคุ้นเคยกับโปเกมอนยังไงซึจิมอนก็แบบนั้นล่ะครับ เพราะเมื่อคุณสู้กับศัตรูรายทางชนะแล้ว ในบางครั้งมันจะยืนอยู่ต่อให้คุณคุยแล้วเลือกใช้ไอเท็มปาจับ…เอ้ย ยื่นให้เป็นของขวัญเพื่อชักชวนมาร่วมทีม แน่ล่ะว่าไอเท็มชักชวนก็มีหลายระดับ ยิ่งระดับสูงยิ่งชวนง่ายประหนึ่งใช้มาสเตอร์บอลปาจับมา แต่ว่าวิธีการได้ซึจิมอนมาร่วมทีมที่ง่ายกว่านั้นก็คือการไปสู้ศัตรูตามจุด Raid ที่กระจายไปทั่วเกม หรือไม่ก็ใช้ตั๋วกาชาไปสุ่มจับเอา

ทีนี้พอคุณได้ซึจิมอนมาแล้วจะเอาไปทำอะไรได้ล่ะ? ก็จัดทีมซึจิมอนไปท้าสู้กับเทรนเนอร์ต่าง ๆ ทั่วฉากเพื่อเก็บเลเวลให้กับซึจิมอนของคุณไงล่ะครับ และถ้าคุณได้มาซ้ำก็เอาไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับซึจิมอนของคุณเพื่อที่จะได้วิวัฒนาการไปเป็นร่างใหม่ที่เก่งยิ่งกว่าเดิม เมื่อคุณมั่นใจว่าทีมคุณเจ๋งพอแล้ว ก็ไปตระเวนท้าสู้กับยิมลีดเดอร์ต่าง ๆ เพื่อรับเอาป้ายยิมมาเพราะเป้าหมายสูงสุดของคุณก็คือการชนะแชมเปียนลีกแล้วกลายเป็นสุดยอดซึจิมอนเทรนเนอร์นั่นเอง

อย่างที่ผมบอกไปว่าทีมงานพัฒนาระบบของ Sujimon Battle ขึ้นมาโดยเฉพาะในแบบที่มีวิธีการเล่นต่างจากตัวเกมหลัก ซึ่งคุณจะต้องจัดทีมโดยคำนึงถึงการแพ้ธาตุระหว่างกัน เลือกหาจังหวะในการใช้สกิล หาจังหวะเปลี่ยนตัวซึจิมอนระหว่างสู้ ฯลฯ อะไรพวกนั้น เรียกได้ว่าระบบการเล่นก็ทำออกมาให้ต้องวางแผนระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ซับซ้อนจนเกินไป

ผมมั่นใจว่า Sujimon Battle นี่จะทำให้คุณเผลอใช้เวลาไปกับมันร่วมสิบชั่วโมงจนเคลียร์เนื้อหาทั้งหมดได้แบบไม่ยากเย็นครับ


เนื้อหารอง Dondoko Island

Dondoko Island นี้เป็นอีกหนึ่งในเนื้อหารองที่มีขนาดใหญ่มากของเกมครับ หากว่าภาคที่แล้วให้อิจิบังได้ทำหน้าที่บริหารกิจการร้านขนมจนกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ล่ะก็ ในคราวนี้คุณจะได้บริหารเกาะรีสอร์ตที่ทรุดโทรมจากที่ไม่มีแม้แต่ดาวเดียวให้กลายเป็นรีสอร์ตห้าดาวครับ

แน่นอนว่า Dondoko Island นี้ก็มีเนื้อหาเป็นของตัวเอง และก็มีระบบการเล่นเป็นของตัวเองที่ต่างไปจากเกมเพลย์หลัก ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือวิธีการเล่นจะคล้ายกับ Animal Crossing นั่นล่ะครับ เพราะตลอดเวลาที่เราอยู่บนเกาะแห่งนี้ เราจะได้ออกรวบรวมทรัพยากรเพื่อนำมาสร้างสิ่งต่าง ๆ ในแบบ DIY (แต่ทำอีท่าไหนออกมาเป็นตึกอันนี้ก็ไม่ทราบได้) รวมถึงเก็บวัตถุดิบต่าง ๆ ประจำเกาะเพื่อนำมาขายและเพิ่มมูลค่า เพิ่มชื่อเสียงให้กับเกาะ

ยิ่งเกาะเรามีของดีประจำเกาะมาก คนก็จะยิ่งรู้จักมากและยิ่งอยากมาพักมากขึ้น พอคนมาพักมากขึ้น เราก็จะยิ่งมีทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายสำหรับพัฒนาเกาะยิ่งขึ้น และทำให้รีสอร์ตสามารถไต่ระดับไปเรื่อย ๆ จนถึงเป้าหมายที่เป็นห้าดาวในที่สุด

ความก้าวหน้าในเนื้อหาส่วนนี้จะค่อยเป็นค่อยไปครับ พื้นที่ซึ่งเราจะพัฒนาและจัดวางตกแต่งสิ่งต่าง ๆ ได้นั้นจะมีพื้นที่จำกัดในช่วงแรก โดยที่เราจะต้องทำการเคลียร์กองขยะที่พวกโจรสลัดนำมาทิ้งไว้ และปรับปรุงพื้นที่ก่อนจึงจะเริ่มวางอาคารหรือของตกแต่งได้ และในระหว่างทางก็อาจจะเจอพวกโจรสลัดที่เข้ามาขัดขวางซึ่งคุณก็ต้องใช้ไม้เบสบอลคู่ใจหวดพวกมันให้กลิ้ง

ในโหมดนี้จะมีรอบเวลาในหนึ่งวันชัดเจน โดยในหนึ่งวันนั้น คุณจะสามารถทำอะไรก็ได้โดยอิสระ จะไปวิ่งหาทรัพยากร ไปจับปลา จับแมลง ใช้วัตถุดิบที่มีสร้างของฝากประจำเกาะ จ่ายเงินเพื่อฉายโฆษณารีสอร์ต หรือจัดกิจกรรมรอบกองไฟยามค่ำคืนเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับแขกที่มาพัก ฯลฯ หรือคุณอาจจะล่องแพไปยัง Dondoko Farm เพื่อนำเอาซึจิมอนที่จับมาได้ไปใช้แรงงานทาส (เอ๊ะ?) เพื่อทำฟาร์ม ทำงานหาเงิน หรือเก็บวัสดุก่อสร้างมาให้คุณใช้พัฒนารีสอร์ตต่อไป

ผมคิดว่า Dondoko Island นี้เป็นเนื้อหารองที่ทำออกมาล้อเลียน Animal Crossing เต็ม ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีระบบเกมที่จริงจังในตัวเองไม่แพ้ Sujimon Battle ครับ ซึ่งก็เช่นเดียวกันที่ไม่ต้องแปลกใจ หากว่าคุณมาเยือนเกาะแห่งนี้แล้วจะใช้เวลาเป็นสิบชั่วโมงเพื่อพัฒนารีสอร์ตจนลืมเนื้อหาหลักไปเลยครับ


มินิเกมสารพัดสารพัน

จุดเด่นของแฟรนไชส์นี้ก็คือมินิเกมจำนวนมากมายที่อัดแน่นลงมาในเกม แต่ละภาคนั้นมีมินิเกมไม่ต่ำกว่าสิบชนิดให้ได้เล่น ซึ่งพวกมินิเกมที่คุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่นการเล่นไพ่โป๊กเกอร์เอย แบล็กแจ็กเอย ไพ่ฮานาฟุดะเอย ฯลฯ พวกนี้ล้วนเป็นของตายที่แฟน ๆ รู้จักกันดี รอบนี้ผมเลยอยากพูดถึงมินิเกมใหม่ ๆ ที่ใส่เข้ามาโดยเฉพาะครับ

มินิเกมใหม่ที่อยากพูดถึงก็คือ Sicko Snap ครับ ทั้งวิธีการเล่นและชื่อนั้นชัดเจนมากว่าล้อเลียน Pokemon Snap เห็น ๆ เพียงแค่ว่าในเกมนี้ คุณจะได้ขึ้นรถ trolley ที่วิ่งไปรอบ ๆ เมืองโฮโนลูลูแล้วใช้กล้องคอยจับภาพพวกโรคจิตที่จะปรากฏตัวมาให้คุณเห็นตลอดเส้นทาง ยิ่งคุณถ่ายได้มาก แต้มหลังจบฉากที่จะไปแลกของก็ยิ่งมากตาม ผมรู้สึกว่านี่เป็นมินิเกมที่ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของรถ trolley ประจำทางได้ดี ด้วยความที่เกมโดยปกตินั้นส่วนมากคนจะเดินทางด้วยระบบ fast travel กันซะเยอะ แต่มินิเกมนี้จะเป็นการบังคับให้คนเล่นนั่งรถประจำทางกลาย ๆ พร้อมกับชมวิวทิวทัศน์ของเมืองโดยรอบ พร้อมถ่ายภาพพวกโรคจิตไปในคราวเดียวกัน

สำหรับมินิเกม Crazy Eats นั้นได้รับการออกแบบและดีไซน์มาโดยถี่ถ้วนเป็นพิเศษ แม้ว่าจะเป็นแค่มินิเกมก็ตาม ถ้าจะอธิบายง่าย ๆ นั้นมินิเกมนี้ก็เป็นการล้อเลียนเกม Crazy Taxi ของ SEGA เองนั่นล่ะครับ แต่เปลี่ยนจากการรับส่งผู้โดยสารมาเป็นการปั่นจักรยานส่งอาหารแทน ระหว่างทางคุณต้องปั่นเก็บอาหาร พร้อมกับหลบหลีกอุปสรรคและเล่นท่ายากเพื่อทำแต้มให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องไปส่งอาหารให้กับลูกค้าที่รอคอยอยู่โดยสวัสดิภาพ มินิเกมนี้จับเอาบรรยากาศความวายป่วงโกลาหลในแบบของ Crazy Taxi ออกมาได้ดีมาก และมีวิธีการเล่นชนิดที่ว่าถ้าเติมอะไร ๆ ลงไปอีกหน่อยก็แยกมาเป็นเกมของตัวเองได้เลยเหมือนกัน

มินิเกม Miss Match หรือการเล่นแอปหาคู่ก็เป็นสิ่งที่ทีมงานใส่เข้ามาในภาคนี้ โดยส่วนตัวผมมองว่าด้วยความที่มินิเกมบาร์โฮสเตสนั้นโดนตัดออกไปในภาคนี้ ก็เลยมีมินิเกมนี้มาชดเชยสำหรับผู้เล่นที่ต้องการเนื้อหาแบบสยิวกิ้วครับ วิธีการเล่นนั้นค่อนข้างแปลกเพราะเราต้องเลือกเซ็ตโปรไฟล์ตัวเราว่าจะแนะนำตัวด้วยบุคลิกแบบไหน ทำอาชีพอะไร ชอบงานอดิเรกอะไร จากนั้นเกมก็จะเลือกจับคู่เรากับสาวในแอปให้ ถ้าเข้ากันได้ดีก็จะยิ่งง่าย แต่เราก็ต้องจำสิ่งที่เซ็ตเอาไว้แล้วตอบให้ตรงเวลาโดนถามด้วยนะ หากว่าคุยกันถูกคอ ทุกอย่างไปได้สวยคุณก็จะได้นัดเจอกับสาวที่คุย จากนั้นก็…?

สิ่งสุดท้ายในแง่มินิเกมที่อยากขอพูดถึงก็คือเกม arcade หรือเกมตู้ใหม่ ๆ ครับ ในคราวนี้ทีมงานเลือกใส่เกมตู้ที่หาเล่นในปัจจุบันได้ค่อนข้างยากอย่าง Spikeout Final Edition ที่เป็นเกมสไตล์ beat them up เก่าแก่มาให้เล่น แล้วก็ยังมี SEGa Bass Fishing ที่เป็นเกมตกปลา และสุดท้ายคือ Virtua Fighter 3 TB ซึ่งเป็นเกมไฟติ้งที่คุณสามารถจัดทีม 3 ตัวละครได้ ทั้งหมดนี้คือเกมเต็มตามฉบับ arcade แท้ ๆ ที่ใส่ลงมาให้คุณได้เล่นในเกมอีกที ถ้าใครอยากรำลึกความหลัง หรือใครที่เคยอยากเล่นแต่ไม่มีโอกาสได้เล่น ก็สามารถมาลองเล่นได้ในเกมนี้เลยครับ

มินิเกมทั้งหมดภายในเกม ไม่ว่าจะเป็นมินิเกมเก่า ๆ ที่คุ้นเคยหรือมินิเกมใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่จะชวนให้คุณออกนอกลู่นอกทางจนเกือบลืมเนื้อหาหลักไปได้เหมือนกัน เพราะโดยรวมแล้วแต่ละมินิเกมนั้นออกแบบมาให้เล่นได้เพลิน ๆ และมีรางวัลตอบแทนให้แทบทุกมินิเกมที่มีให้เล่นครับ


กราฟิก

ในส่วนของกราฟิกนั้น ผมคิดว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับภาค Gaiden ที่วางจำหน่ายไปก่อนหน้านี้ ในแง่ของความละเอียดโมเดลและวัตถุครับ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำให้ทั้งสองเกมดูแตกต่างกันน่าจะเป็นวิธีการเลือกใช้แสงเงาของเกม นั่นเพราะโทนแสงของ Gaiden นั้นจะออกมืด ๆ หม่น ๆ เป็นส่วนมาก ในขณะที่ Infinite Wealth นั้นจะเลือกนำเสนอสภาพแวดล้อมที่สว่างสดใสเป็นส่วนใหญ่รวมถึงสีสันที่จัดจ้านกว่าภาคก่อน ๆ (โดยเฉพาะในแมปฮาวาย) มันก็เลยทำให้บรรยากาศและความรู้สึกโดยรวมของเกมค่อนข้างต่างกัน


งานเสียง

สำหรับงานเสียงของเกมนี้ยังคงทำได้ยอดเยี่ยมสมมาตรฐานของแฟรนไชส์ครับ เพลงธีมใหม่ ๆ ประจำตัวบอสแต่ละตัวนั้นทำออกมาได้ดุเดือดสะใจ ในขณะเดียวกันเพลงธีมเก่าที่คุ้นเคยก็ถูกเลือกใช้มาได้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมชนิดที่ว่าแฟนขาประจำจะต้องซี้ดปาก มีหลายช่วงหลายโมเมนต์ในเกมที่น่าจดจำส่วนหนึ่งก็เพราะการเลือกใช้เพลงประกอบได้ถูกที่ถูกเวลานี่ล่ะครับ

แต่ไฮไลต์สำหรับผมในหัวข้อนี้ก็คือเพลงตอนจบอย่าง The Invaluable ของคุณชีนะ ริงโกะที่ทีมงานเลือกมาใช้ได้เหมาะกับบริบทมาก ทั้งความหมายของเพลงที่ดีเหลือเกินและเสียงร้องที่จับใจ มันทำให้ซีเควนส์ตอนจบนั้นทรงพลังไม่แพ้ภาคก่อน ๆ ครับ ผมมั่นใจว่าฉากในตอนจบและสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะสื่อตรงถึงใจคนเล่นหลาย ๆ คนแน่นอน


สรุป

Like a Dragon: Infinite Wealth คือภาคที่ยกระดับของเกมจาก Yakuza: Like a Dragon มาได้เยอะมาก ในแง่ระบบการเล่นที่สนุก ลงตัว รวดเร็ว และคอนเทนต์รองมากมายมหาศาลให้เล่นจนแทบลืมเวลา แม้ว่าเนื้อเรื่องจะมีจุดที่ขาดหายและไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างที่ควรจะเป็น แต่ในภาพรวมแล้วนี่คือเกมคุณภาพสูงมาก และถ้าคุณเป็นแฟนของแฟรนไชส์มายาวนานล่ะก็ คุณจะเต็มอิ่มไปกับมันอย่างแน่นอนครับ

The Review

100% มังกรคู่ สู้สิบแก๊ง

Like a Dragon Infinite Wealth คือภาคที่เต็มอิ่มสำหรับแฟน ๆ ซึ่งติดตามมายาวนาน แม้ว่าจะยังมีจุดตกหล่นไปบ้างในแง่เนื้อหา แต่ความบันเทิงและคอนเทนต์ต่าง ๆ จะทำให้คุณใช้เวลาไปกับเกมจนลืมวันลืมคืน

100%

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์