News Previews

5 เกมชวนคุณรู้จักความเป็น THQ Nordic

5 เกมชวนคุณรู้จักความเป็น THQ Nordic

THQ Nordic ยินดีที่ได้รู้จัก (อีกครั้ง)

หากคุณเป็นเกมเมอร์ที่มีความทรงจำ (และอายุ) ยาวนานมากพอ โลโก้ตัวอักษรสามตัว THQ คงเคยปาดเข้ามาในสายตาไม่มากก็น้อย บริษัทเกมสัญชาติเกิดแคนาดานี้ฝากลายมือชื่อชั้นมานับทศวรรษ บนหลากแพลตฟอร์ม หลายเกมของพวกเขามีชื่อเสียงจากการบอกปากต่อปาก หลายเกมกลายเป็นงาน Cult Classic และมี IP ที่ใกล้จะไปแตะเส้นของเกมระดับ AAA อย่างเต็มตัวแล้วเหมือนกัน

แต่พักเรื่องประวัติศาสตร์ไว้ตรงนี้ก่อน ผมแค่จะบอกว่า THQ ก็เหมือนคนคุ้นหน้าที่เราเจอเขามาตลอดหลายปี โดยยังไม่มีโอกาสได้ทักทายกัน แต่ในที่สุด THQ ที่ได้ชื่อต่อท้ายเป็น THQ Nordic ก็เข้ามาแนะนำตัวเองกับแฟน ๆ และเกมเมอร์ SEA อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อพวกเขาเปิดสาขาใหม่ที่สิงคโปร์ พร้อมประกาศเดินหน้าทำการตลาดเอาใจภูมิภาคนี้เต็มที่ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พวกเขาอยากทำความรู้จักอย่างที่สุด

ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าบ้าน หรือ แฟนเกม นี่คือโอกาสทองของเราที่จะได้ต้อนรับการมาถึงอย่างเป็นทางการหลังจากผ่านมานับทศวรรษ และไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการมาทำความรู้จักบรรดาเกมดาวเด่นของ THQ Nordic อีกครั้ง โดยเราคัดมาให้คุณ 5 เกม ด้วยกัน 

Kingdoms of Amalur: Re-Reckoning (ลิขิตผู้ไร้ชะตา)

หมุนเข็มนาฬิกากลับไป 10 ปีก่อน Big Huge Games และ 38 Studios ได้ปล่อย Kingdoms of Amalur: Reckoning เกมแอ็กชัน RPG คุณภาพแน่นเกมนี้ออกมา แม้ว่ามันจะเป็นเกมแรกและเกมสุดท้ายสำหรับ 38 Studios เพราะล้มละลายไม่นานหลังจากนั้น และไม่ได้ฝากนวัตกรรมใหญ่โตอะไรเอาไว้ให้เกมอื่นเดินตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเกมแฟนตาซียุคกลางตะวันตกที่มีเนื้อหาเข้มข้น เล่าผ่านตัวละครเอกที่ไม่ถูกชะตากรรมกำหนด (นอกจากเรา) และการออกแบบระบบต่อสู้ให้ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้โดยมีแค่สามคลาส มีท่าเผด็จศึกศัตรูคล้าย God of War ทำให้มันยังมีชีวิตอยู่ในบทสนทนาของเกมเมอร์ยาวนาน

กระทั่งปี 2018 ลิขสิทธิ์ของเกมได้ตกไปอยู่ในมือของ THQ Nordic ซึ่งเล็งเห็นศักยภาพและทำการรีมาสเตอร์มันขึ้นมาใหม่ด้วยฝีมือของทีมที่ทำรีมาสเตอร์ซีรีส์ Darksiders กลายเป็น Kingdoms of Amalur: Re-Reckoning และทำ DLC ตัวที่สามในชื่อ Fatesworn ด้วย ส่วนอนาคตของภาคต่อนั้น ถึง 38 Studios เคยคิดงานส่วนนี้ไว้บ้างแล้ว แต่หลังจากล้มละลาย ชะตากรรมของภาคต่อเกมนี้ยังคงลอยเคว้งอยู่ในอากาศ


Spell Force (มนตรามหากาฬ)

มหากาพย์ศึกจอมเวทที่สืบต้นกำเนิดไปได้ยาวนานถึงปี 2003 ในชื่อ SpellForce: The Order of Dawn นี่เป็นเกมแนวสวมบทบาท (RPG) แบบผสมการวางแผนกลยุทธ์เรียลไทม์ (RTS) ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแนวเกมที่ไม่ได้อยู่กระแสสูงแบบอดีตอีกแล้ว แต่เรื่องราวในดินแดน EO นี้ก็สานต่อมาจนถึง SpellForce ภาค 3 ในปี 2017 โดยยังคงรูปแบบของเกม RTS เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือลงให้กับคอนโซลต่าง ๆ ด้วย

เช่นเดียวกับ Kingdoms of Amalur: Re-Reckoning ตัว SpellForce ไม่ได้เป็นผลงานจากมือ THQ Nordic แท้ ๆ แต่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2012 กระทั่งมีการนำเกมนี้มาเป่ามนตร์ใหม่ให้ขลังกว่าเดิมเป็น SpellForce 3 Reforced หรือภาคสามเวอร์ชันอัปเกรด ซึ่งวางจำหน่ายไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง

แม้การเอาเกมแนว RTS (แถมพ่วงความเป็น RPG) มาไว้บนคอนโซลจะเหมือนการพยายามผสมของคาวเข้ากับของหวาน แต่ SpellForce 3 Reforced ก็ได้รับคำชื่นชมว่ามีงานออกแบบการบังคับให้ผู้เล่นคอนโซลเข้าใจง่าย และเกลี่ยน้ำหนักให้ทั้งการวางแผนและสวมบทบาทได้อย่างไม่น่าเกลียด เกมยังมีการลงรายละเอียดของภาพสูงมาก จนมันกลายเป็นดาบสองคมที่นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งชื่นชม ขณะเดียวกันอีกส่วนก็บอกว่ารายละเอียดของกราฟิกมันมากล้นเกินไปหน่อยจนทำให้ผู้เล่นอาจสับสนว่าควรโฟกัสที่สิ่งไหนบนหน้าจอ และสำคัญที่สุดคือกราฟิกที่งดงามมักเดินสวนทางกับ FPS ของเกมเสมอ


Biomutant (ขนปุยลุยโลกหลังล่มสลาย)

นี่เป็นเกมที่ต้องถอนหายใจในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังตั้งแต่ที่ตัวอย่างแรกถูกปล่อยออกมา ความตั้งใจของทีมพัฒนา ไปจนถึงตัวเกมจริงที่ปล่อยออกมาให้เกมเมอร์ได้เล่น

Biomutant เล่าเรื่องราวโลกอันล่มสลายที่เหล่าสรรพสัตว์มีวิวัฒนาการเทียบเท่ามนุษย์ จนสร้างอารยธรรมแบบชนเผ่าได้ แกนของเรื่องราวคือ ต้นไม้โลก ที่หล่อเลี้ยงให้โลกมีชีวิตต่อไปได้ ทว่ารากทั้ง 5 ของมันกำลังถูกคุกคาม โดยเราคือผู้กุมชะตากรรมของต้นไม้นี้และเรื่องราวก็ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อตัวเอกต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับเผ่าสัตว์ทั้ง 6 ที่ต่างก็มีเดิมพันกับต้นไม้โลกเหมือนกัน

โอเค นั่นเป็นพล็อตที่น่าสนใจ แล้วตัวเกมถูกคาดหวังสูงไม่ว่าจะจากผู้เล่นชาวไทยหรือต่างชาติ เพราะในช่วงแรกหรือในปี 2017 เกมนำเสนอความทะเยอทะยานของมันออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกที่งามบาดตา รูปแบบเกมเพลย์ที่ดูมีชั้นเชิง โลกโอเพนเวิลด์อันกว้างใหญ่ให้ผู้เล่นรอไปสำรวจ เกมยังให้ผู้เล่นสามารถเลือกเส้นทางฝ่ายดีหรือฝ่ายร้ายก็ได้

ถึงแบบนั้น นักวิจารณ์จากหลายสำนัก หรือตัวผู้เล่นเอง ได้แต่พยักหน้าเบา ๆ แล้วพูดว่า “ก็พอได้” หลังจากได้เล่นเกมจนจบและไม่จบมาแล้ว สิ่งที่ Biomutant เป็นจริง ๆ คือ เกมที่มีภารกิจซ้ำไปมา การเคลื่อนไหวที่ยังติดขัด โลกอันกว้างใหญ่แต่ยากไร้คอนเทนต์ เหมือนกล่องใส่ของเล่นที่เมื่อเปิดมาแล้วเนื้อโฟมกินพื้นที่ไปกว่า 70%

ถามว่ามันเป็นเกมที่แย่ขนาดเล่นไม่ได้เลยรึเปล่า ไม่ใช่แน่นอน ความผิดหวังที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมดก็คือความเสียดายในศักยภาพที่คนเล่นต่างรู้ว่า Biomutant สามารถเป็นอะไรได้มากกว่านี้


Destroy All Humans! (ก็ตามชื่อ)

แมวอยากให้มนุษย์เป็นทาส แต่คริปโตมีไอเดียที่ดีกว่านั้น คือทำลายมันให้หมด!

ย้อนไปในปี 2005 Pandemic Studios เกิดไอเดียบรรเจิดที่จะทำเกมโอเพนเวิลด์ แนวล้อเลียนเสียดสีอเมริกาในช่วงสงครามเย็น และใช้เอเลียนมาเติมกาวเข้าไป ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นมนุษย์ต่างดาวที่มีชื่อย่อว่า คริปโต (แน่นอนว่ามันไม่ใช่คริปโตแบบที่เราเข้าใจในปัจจุบัน ถึงมันจะมีความสามารถในการบดขยี้สมองเราได้เหมือนกันก็เถอะ) เขาต้องลงมาปฏิบัติภารกิจบนโลกคือการสืบหาร่างโคลนที่ถูกส่งมาก่อน และการดึงสมองมนุษย์มาใช้ขยายจำนวนพวกเขาไม่ให้สูญพันธุ์

สำหรับเกมเมอร์จำนวนไม่น้อย Destroy All Humans! นับเป็นซีรีส์ที่ถูกจัดเข้าชั้น Cult Classic เลยทีเดียว มันมีความกาวในเกมเพลย์ มีน้ำเสียงเสียดเย้ยสังคมในบทสนทนา และเดินสายทำลายล้างมนุษย์อย่างยาวนานถึง 4 ภาค ก่อนจะขึ้นยานหายไปถึง 12 ปี

กระทั่ง THQ Nordic ผู้ทำหน้าที่จัดจำหน่ายเกมนี้มาตั้งแต่ต้น เกิดดำริว่าจะส่งสัญญาณออกนอกโลกเพื่อเรียก คริปโต กลับมาใหม่อีกครั้งในเวอร์ชัน Remake ของเกมภาคแรก ซึ่งออกวางจำหน่ายไปแล้วเมื่อปี 2020 ด้วยกราฟิกที่ยกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเกมเพลย์ยังคงติดอยู่ในยุคของ PS2 อยู่ แต่แฟน ๆ ซีรีส์ก็ดีใจที่ได้เห็นคริปโตอีกครั้ง และพวกเขา หรือ พวกคุณก็จะต้องใจฟูไปอีก เมื่อเกมเวอร์ชัน Remake ของภาค 2 คือ Destroy All Humans! 2: Reprobed จะวางจำหน่ายในวันที่ 30 สิงหาคมนี้แล้ว


Darksiders (จตุรอาชาฝ่านรกสวรรค์)

คงไม่ต้องมีคำบรรยายอะไรให้มากมายแล้ว สำหรับซีรีส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของจตุรอาชาแห่งวิวรณ์ผู้เข้าสู่สงครามระหว่างเทวทูตและปิศาจร้าย ผมคิดว่าผมเล่าอดีตที่มีต่อเกมนี้น่าจะสนุกกว่า

ผมรู้จัก Darksiders จากตัวอย่าง CGI ที่โชว์การมาถึงของ War พระเอกของเราในภาคแรก ใจผมตอนนั้นคิดว่า “นี่มันตัวอะไร หน้าคล้าย Arthas จาก Warcraft ธีมก็ดูดาษ ๆ แนวเทวทูต ซาตาน” หลังจากตัวอย่างนี้ผมไม่แม้แต่จะเฝ้ารอดูตัวอย่างเกมเพลย์ของมันเลย กระทั่งมันผ่านเข้าหูเข้าตามาเองในวันหนึ่งที่เปิดดูคลิปตัวอย่างเกมไปเรื่อย ๆ แล้วผมตัดสินใจในตอนนั้นทันทีว่า ผ่าน หมายถึงเกมนี้กูขอผ่านนะ ดูจากภาพและระบบการต่อสู้แล้วไม่น่ารอด กล้าทำเกม Hack & Slash แบบนี้ออกมาได้ยังไง แถมพระเอกยังชื่อ War อีก War เดียวที่ควรเทิดทูนคือ God of War เท่านั้น

หยามหลู่ดูหมิ่นขั้นสุด จนผมกับเพื่อนถึงขนาดตั้งชื่อเล่นให้มันว่า ดาร์กเสล่อ ทั้งที่ไม่เคยคิดให้โอกาสสักครั้ง

แต่เหมือนพระเจ้าอยากให้บทเรียนอะไรบางอย่าง เวลาผ่านไปไม่นานไอ้เพื่อนคนเดิมนี้แหละก็มาบอกผมด้วยเสียงสำนึกว่า เฮ้ย เกมมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนะ ไอ้ผมในเวลานั้นก็อดอยากปากแห้งเพราะขาดแคลนเกม Hack & Slash มานาน ประจวบเหมาะกับได้แผ่นจากเพื่อนมาพอดี ไหนดูซิ จะเล่นมันได้สักกี่น้ำ

ผ่านบทนำ เข้าเนื้อเรื่องหลัก ลุยดันเจี้ยนแรก ปลดล็อคร่างปิศาจ ลุยดันเจี้ยนสอง สู้บอสไปสี่ห้าตัว ภาวนาตลอดว่าขอให้มันไม่สนุก ขอให้มันมีจุดสะดุด เพื่อจะได้ด่า แต่เวลาที่ผ่านไป 4-5 ชั่วโมง โดยไม่พักมันก็ตัดสินแล้วว่าไอ้เสล่อตัวจริงไม่อยู่ไหนไกล มันคือคนที่นั่งจับจอยอยู่นี่แหละ

หลังเล่นจนจบ ผมได้ข้อสรุปว่า Darksiders ภาคแรก ไม่ได้หวือหวา ไม่ได้มาแหกขนบเกม Hack & Slash อะไรทั้งนั้น แต่มันเชื่อในพลังของสูตรสำเร็จและคอนเทนต์ที่ตั้งใจใส่เข้าไป ทุกดันเจี้ยน และบอกทุกตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมถึงเรื่องราวซับซ้อนชวนติดตาม ซึ่ง Darksiders 2 ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน ถึงผมจะไม่ค่อยชอบองค์ประกอบ RPG แบบใส่ตัวเลขความเสียหายในภาคนี้ก็เถอะ

คุณภาพของซีรีส์กลับมาสะดุดในภาค 3 ที่เล่าเรื่องราวของ Fury หนึ่งในจตุรอาชาที่เป็นผู้หญิงคนเดียว โดยได้รับเสียงวิจารณ์ที่อยู่ในระดับแค่พอรับได้ ส่วนจตุรอาชาคนสุดท้ายคือ Strife กลับไม่ได้เกมภาคหลักของตัวเอง แต่ได้เป็นเกมภาคแยกที่ให้ผู้เล่นบังคับ War และ Strife ผ่านมุมมองจากด้านบนแทน

Darksiders น่าจะเป็น IP ในมือของ THQ Nordic ที่เข้าใกล้ความเป็นเกม AAA มาสเตอร์พีซที่สุด และทำยอดขายได้อย่างน่าพอใจ แม้แต่ภาคสามเองก็ทำเงินแบบคืนทุนได้สำเร็จ แต่คำถามจากแฟนเกมถึงอนาคตของซีรีส์นี้ก็ยังอยู่ในความมืดมน และคงมีเพียง THQ Nordic เท่านั้น ที่มองเห็นเส้นทางข้างหน้าของจตุรอาชาได้

นั่นคือทั้งหมดที่ผมอยากให้คุณได้กลับมาทำความรู้จักกับ THQ Nordic อีกครั้ง ผ่านแฟรนไชส์ทั้ง 5 ซึ่งไม่ว่ายังไงผมก็อยากให้พวกคุณได้ลองสัมผัสเกมเหล่านี้ด้วยสองตาและสองมือของตัวเอง ติดตามช่องทางของเราเอาไว้ เรามีอะไรไว้รอคุณอยู่แน่นอน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์